วันพืชมงคล 2565 คือ วันอะไร เปิดประวัติ-ความสำคัญ คลิกที่นี่

12 พ.ค. 2565 | 17:33 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 22:34 น.

วันพืชมงคล 2565 คือ วันอะไร เปิดประวัติ-ความสำคัญ พร้อมความหมายคำพยากรณ์เสี่ยงทาย ผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนา-อาหารที่เลี้ยงพระโค อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

วันพืชมงคล 2565 ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม คือ วันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่สืบต่อมาตั้งแต่โบราณเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรของชาติ และเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย


ประวัติ-ความสำคัญของวันพืชมงคล

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณเมื่อครั้งที่สุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์มิได้ลงมือไถนาเอง เพียงแต่เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น 

 

เมื่อครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจกษัตริย์และจะทรงจำศีลเป็นเวลา 3 วัน โดยวิธีการเช่นนี้ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่า เป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง จะยกเว้นก็ต่อเมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร ในช่วงแรก ๆ นั้นสถานที่ประกอบพิธีที่ไม่ตายตัวแล้วแต่จะทรงกำหนดให้ 

ครั้นมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี รวมถึงพระราชพิธีพืชมงคลที่ได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่นั้นมาโดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำให้มีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"

 

ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลสมัย อาทิ พิธีทางพราหมณ์ที่ตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาขวัญ ให้เป็นหน้าที่ของ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

สำหรับการประกอบพระราชพิธีจะกระทำขึ้นที่ท้องสนามหลวง อันประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีความแตกต่างกัน ดังนี้

 

1.พิธีพืชมงคล

  • เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเหนียว ข้างฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น การประกอบพิธีพืชมงคลก็เพื่อให้พันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย และอุดมสมบูรณ์ มีความเจริญงอกงามดี

 

2.พิธีแรกนาขวัญ

  • เป็นพิธีที่เริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งการประกอบพิธีแรกนาขวัญนี้ก็เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ และเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

ในพิธีจะมีการพยากรณ์ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารในปีนั้น ๆ โดยเสี่ยงทายจาก ผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนา 3 ผืน คือ สี่คืบ ห้าคืบ และหกคืบ และเสี่ยงทายจากอาหารเลี้ยงพระโค 7 อย่าง ซึ่งประกอบด้วย ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่วเขียว, งา, เหล้า, น้ำ, หญ้า ซึ่งจะมีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้

 

คำพยากรณ์จากผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนาขวัญ 

หยิบผ้าได้สี่คืบ

  • พยากรณ์ว่า ปีนั้นน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่

 

หยิบผ้าได้ห้าคืบ

  • พยากรณ์ว่า ปีนั้นน้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี

 

หยิบผ้าได้หกคืบ

  • พยากรณ์ว่า ปีนั้นน้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายได้ผลไม่เต็มที่

 

คำพยากรณ์จากอาหารเลี้ยงพระโคแรกนาขวัญ

พระโคกินข้าว, ข้าวโพด

  • พยากรณ์ว่า ในปีนั้นพืชพรรณธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

 

พระโคกินน้ำ, หญ้า 

  • พยากรณ์ว่า ปีนั้นน้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์

 

กรณี กินเหล้า 

  • พยากรณ์ว่า ปีนั้นการคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

 

พระโคกินถั่ว, งา 

  • พยากรณ์ว่า ปีนั้นผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี