ซิฟิลิสคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด ไม่มีเพศสัมพันธ์ติดต่อได้ไหม อ่านด่วนเลย

14 พ.ค. 2565 | 02:57 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2565 | 09:59 น.

ซิฟิลิสคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด ไม่มีเพศสัมพันธ์ติดต่อได้ไหม อ่านด่วนเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลสาเหตุการเกิด วิธีการรักษาไว้ให้แล้ว

ซิฟิลิสคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด เป็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก หลังจากที่มีข่าวว่า "หลวงปู่แสง" เป็นโรคซิฟิลิส

 

ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญก็คือ หลวงปู่แสงเป็นโรค "ซิฟิลิส" ได้อย่างไร  เพราะตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ซิฟิลิส เป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโรคที่หลวงปู่แสงไม่น่าจะเป็นได้

 

"ฐานเศรษฐกิจ" สืบค้นข้อมูล เพื่อหาคำตอบเรื่องดังกล่าว ไขข้อสงสัย พบว่า

 

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย Treponema Polidum. เกิดได้ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และปาก 

 

หากไม่รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง ระบบต่างๆ ของร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

การเกิดโรคในขั้นต้นโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) 

 

หรือเรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลดังกล่าวนี้

สำหรับอาการของโรคซิฟิลิส จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

 

  • ระยะที่ 1 มีตุ่มเล็ก ๆ แตกเป็นแผลมีน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 2 มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือทั่วร่างกาย
  • ระยะที่ 3 ระยะแฝง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ
  • ระยะที่ 4 เชื้อเข้าไปทำลายระบบสมอง และอวัยวะต่าง ๆ

 

อย่างไรก็ดี โรคซิฟิลิส ในหญิงตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์มาก เนื่องจากเชื้อสามารถผ่าน รกไปยังตัวของทารก สามารถติดต่อไปยังทารกได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์

 

ซิฟิลิสคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด ไม่มีเพศสัมพันธ์ติดต่อได้ไหม

 

แต่ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับปริมาณเชื้อในกระแสเลือด และระยะของการตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ในบางรายอาจรุนแรกถึงขั้นแท้ง, พิการแต่กำเนิด หรืออาจร้ายแรงถึงเสียชีวิตระหว่างคลอดได้
 

ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจ หนองจากแผล ในระยะที่ 1 หรือ ตรวจเลือด สามารถทำได้ในทุกระยะ การตรวจเชื้อทำได้โดย 2 วิธีหลัก คือ

 

Darkfield Exam ส่องกล้อง Darkfield เพื่อหาตัวเชื้อ การตรวจนี้สามารถวินิจฉัยได้จาก แผล หรือผื่นที่น่าสงสัยว่าอาจเกิดการติดเชื้อระยะ 1

 

การตรวจเลือด เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส มี 3 วิธี คือ

 

  • การเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเบื้องต้น ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ VDRL หรือ RPR
  • การเจาะเลือดเพื่อหาตัวเชื้อซิฟิลิสโดยเฉพาะ เช่น FTA-ABS หรือ MHA-TP
  • Cerebrospinal Fluid Test การตรวจน้ำไขสันหลังจะ ทำในกรณีสงสัยการติดเชื้อในระบบประสาท

 

ส่วนวิธีการรักษา ประกอบด้วย 

 

  • รักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะเข้ากล้าม หรือการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น
  • ให้ตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาหลังจากรักษา 6 เดือน และต้องตรวจเลือดซ้ำหลังจากนั้นทุกปี

 

ผู้ป่วยโรคนี้ขณะมีแผล ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือสวมถุงยาอนามัยจนกว่าแผลหายสนิท และควรแจ้งให้คู่นอนทราบ เพื่อมารับการรักษาด้วย

 

โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างสม่ำเสมอ


อย่างไรก็ตาม สรุปแล้ว "ซิฟิลิส" นอกจากจะติดตามผ่านทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดจากปัจจัยอื่นได้อีกด้วย ได้แก่

 

  • ทางปาก ผ่านการจูบ
  • จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์
  • รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสโดยตรงกับแผลผู้ป่วย

ที่มา : โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ