กระแสติดแฮชแท็ก #SAVEหลวงปู่แสง โดยเพจเฟซบุ๊ก "ราชสีห์ จิตอาสา" ซึ่งมีผู้กดติดตาม 5 แสนกว่าราย ได้เผยแพร่ข้อความดังนี้ #งดดราม่า ผมรักและศรัทธา ในพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ท่านนี้ ผมเชื่อในคุณงามความดีในวัตรปฏิบัติของท่าน ยาวนานเกือบ 100 ปี ความเชื่อส่วนบุคคลของผมและเป็นความศรัทธาครับ
จากกรณี “หมอปลา” หรือ จีระพันธ์ เพชรขาว และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดยโสธร และสื่อมวลชน บุกเข้าตรวจสอบ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” พระเกจิชื่อดัง วัดป่าดงสว่างธรรม บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ. ป่าติ้ว จ.ยโสธร
โดยกล่าวหาหลวงปู่แสง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต้องถูกจับสึก อ้างว่า มีคลิปช่วงเกิดเหตุเป็นหลักฐาน เห็นหลวงปู่ พร้อมลูกศิษย์ชาย 3 คน นั่งประกบ เมื่อญาติโยมผู้หญิงเข้ามากราบไหว้ จะถูกเรียกเข้าไปใกล้ๆ กระทำการลวนลาม
“หลวงปู่แสง” ซึ่งชราภาพด้วยอายุกว่า 98 ปี โดยกลุ่มลูกศิษย์ ระบุว่า ท่านป่วยเป็น อัลไซเมอร์ ยังมีการแชร์ ใบแพทย์ รักษาอาการป่วยของหลวงปู่แสง ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ระบุชื่อคนไข้ “พระแสง ดีหอม” เข้ารับการรักษาเมื่อปี 2562 ขณะนั้นมีอายุ 92 ปี โดยมีชื่อ “พญ.กนกวรรณ วัชระศักดิ์ศิลป์” เป็นแพทย์ ซึ่งในช่อง diagnosis (การวินิจฉัย) ระบุว่าป่วยอัลไซเมอร์ ส่วนการ MRI มีการเขียนว่า brain atrophy หรือโรคสมองฝ่อ
จนเกิดกระแสปกป้องหลวงปู่ในโลกโซเชียลฯ และเกิดปฏิกิริยาฟาดกลับ “หมอปลาและคณะ” รุนแรงขึ้น
แน่นอนว่าประเด็นนี้สร้างความสับสนให้สังคม ทำให้หลายคนสงสัยว่า ผู้ป่วยโรค "อัลไซเมอร์" มีอาการอย่างไร? สามารถรักษาได้หรือไหม และพูดคุยกับผู้อื่นรู้เรื่องหรือไม่
โรคอัลไซเมอร์ภัยเงียบของผู้สูงวัย
- เป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
- มักเป็นในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- เกิดการเสื่อมถอยในการทำงานของสมองจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดอาการต่าง ๆ เช่น หลงลืม หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย เป็นต้น
อาการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
- มีอาการเริ่มต้นที่เรียกว่า ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย มักหลงลืมหรือมีปัญหาเรื่องความจำที่เห็นชัดเจน แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
เมื่อเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
- มีอาการเสื่อมถอยของการรับรู้มากขึ้น อาจมีอาการทางจิต และปัญหาพฤติกรรมด้วย มีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน จนทำให้ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล
ระยะอาการรุนแรง
- มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ มีปัญหาการก้าวเดิน การกลืน และนอนติดเตียง จำเป็นต้อง มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน
- หากสังเกตเห็นอาการหรือความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในบ้าน ควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย รับการรักษา และการดูแลที่เหมาะสมทันที
10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์
- มีการหลงลืมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลืมในสิ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาเร็วๆ นี้ ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องอาศัยสิ่งช่วยจำ เช่น สมุดจด หรือ บุคคลในครอบครัว คอยช่วยเหลือ
- เสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่น ลืมขั้นตอนจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือขับรถ
- รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเวลาพักร้อน เช่น ขับรถไปในสถานที่ที่ไปประจำ จำกฎกติกาของกีฬาที่เล่นประจำไม่ได้
- รู้สึกสับสนกับเวลาหรือสถานที่ในขณะหนึ่งๆ เช่น ไม่รู้วันที่ ฤดูกาล และเวลา ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆอย่างไร
- รู้สึกลำบากที่จะเข้าใจในภาพที่เห็นและความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือเข้าใจลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ บอกสีต่างๆ ยากขึ้น
- รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำ ประโยคซ้ำๆ
- ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวางหรือเก็บไว้และไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บโทรศัพท์ไว้ในตู้เย็น
- ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่ทำผม ไม่อาบน้ำ เมื่อจะไปงานสำคัญ
- มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ปกติจะไปเล่นกีฬา พบปะเพื่อนทุกสัปดาห์ แต่วันหนึ่งกลับไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลใดๆ
- รู้สึกว่าอารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว
วิธีป้องกันและรักษา "อัลไซเมอร์" ทำยังไง?
- ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่ยาบางตัวอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการ
- ถ้าเกิดจากเนื้องอกหรือโพรงน้ำในสมอง อาจต้องผ่าตัดสมองหรือถ้าเกิดจากขาดฮอร์โมน ก็ให้กินยาทดแทน
- ให้ยากลุ่ม cholinesterase inhibitors ช่วยชะลออาการโรคสมองเสื่อมบางชนิดได้ ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรกๆ
- รักษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมจากโรค เช่น เอะอะวุ่นวาย เห็นภาพหลอน ผู้ป่วยไม่ยอมรับการดูแล โดยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแล หรือใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยสงบลง
วิธีการป้องกันโรคความจำเสื่อม
- ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคนี้ จึงเน้นไปที่การลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค
- หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าจัด หรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
- หมั่นฝึกฝนสมองให้ได้คิดบ่อยๆ เช่น คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นต้น
- พูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง และตรวจสุขภาพประจำปี
- มีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำ และฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา
- พยายามลดความเครียดในทุกๆ วัน เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้า เป็นสาเหตุให้ความจำไม่ดี
ข้อมูล : สมิติเวช จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย