"อนุทิน"ชี้สัญญาณดี ขยับเข้าใกล้โรคประจำถิ่นบ้างแล้ว

20 พ.ค. 2565 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2565 | 11:09 น.

"อนุทิน"ระบุสัญญาณดี ขยับเข้าใกล้โรคประจำถิ่นบ้างแล้ว​ แต่ไม่ได้ล็อคต้อง​ 1​ ก.ค.​ รอดูศบค.ผ่อนมาตรการผับ​ บาร์​ คาราโอเกะ

วันที่ 20 พ.ค.65 เวลา​ 09.20​ น.ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมศบค.ถึงการเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า  ในที่ประชุมจะเสนอให้ผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในช่วงที่เตรียมจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งการประกาศไม่ใช่อยู่ดีๆจะประกาศก็ทำได้ เพราะในช่วงที่ประกาศเป็นโรคระบาดร้ายแรง องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศให้เป็นโรคร้ายแรงของโลก 

 

ดังนั้น หากเราจะประกาศต้องประสานงานให้เขาได้รับทราบด้วย เวลานี้ดูสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อผ่อนคลายมาตรการ ให้มากที่สุด และขณะนี้เข้าเงื่อนไขของโรคประจำถิ่นบ้างแล้ว ส่วนจะมีโอกาสประกาศได้เร็วขึ้นหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า เรายังไม่เคยพูดว่าจะประกาศวันที่ 1 ก.ค. แต่ใช้เป็นวิธีการปฏิบัติออกมา เช่น​ 

การปรับโซนสีพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ได้เริ่มดำเนินกิจการได้โดยโดยไม่ต้องขายอาหารอย่างเดียว แต่ทั้งหมดนี้ต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศบค.พิจารณา ซึ่งในที่ประชุมอาจมีบุคลากรแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันพิจารณามาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการแก้ไขพ.รบ.โรคติดต่อ​ พ. ศ.2548 เพื่อรองรับหากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนี้เรียบร้อยแล้วหรือยัง นายอนุทินกล่าวว่า เราใช้พ.ร.บโรคติดต่อควบคู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว เพื่อรวมความร่วมมือกับทุกฝ่ายมาดำเนินงาน และตราบใดที่ศบค.ยังไม่ยุบ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีผลอยู่ เราก็ยังทำงานร่วมกันแบบนี้

ส่วนที่มีข้อสังเกตเรื่องหน้ากากอนามัยที่อยู่ในข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน​นั้น​ เรื่องนี้เป็นเพียงข้อแนะนำในการปฏิบัติ ไม่ถึงกับว่าถ้าไม่สวมหน้ากากแล้วจะต้องถูกลงโทษ ยกเว้นแต่บางจังหวัดที่เป็นประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดไว้ แต่ไม่ได้บังคับใช้ถึงขั้นลงโทษขนาดนั้น และทำไมต้องบังคับใช้ในเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือ ทั่วโลกถอดหน้ากากกันหมดแล้ว แต่เรายังสวมหน้ากากป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่คนร่วมมือโดยไม่ต้องบังคับ ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อดีขึ้น วันนี้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักเหลือแค่ 1​,000 รายเศษ จำนวนผู้เสียชีวิตลด นี่คือสัญญาณที่จะนำไปสู่โรคประจำถิ่น