ไข้เลือดออกระบาด หมอชี้วัยเรียนเสี่ยงสุด แนะ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

23 พ.ค. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2565 | 19:30 น.

ไข้เลือดออกระบาด กรมควบคุมโรค ชี้ กลุ่มวัยเรียนเสี่ยงสุด หลังฝนตกเกิดน้ำท่วมขังตามภาชนะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แนะ วิธีป้องกันโรค

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้" ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 1,952 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ

 

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูง 5 จังหวัดแรก คือ

  • แม่ฮ่องสอน
  • ระนอง
  • ตาก
  • นครปฐม
  • ราชบุรี

 

แม้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงต้นปี 2565 จะมีตัวเลขน้อยกว่าปี 2564 แต่ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับพบว่า จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

 

ประกอบกับเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่างๆ ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้  

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่

  • เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก
  • เก็บภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่
  • เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
  • จัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน

 

ทั้งนี้ เมื่อประชาชนหรือบุตรหลาน มีอาการไข้สูงลอย ให้รับประทานยาลดไข้ หากทานแล้วไข้ไม่ลด หรือไข้ลดแล้วกลับมาสูงอีก ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ให้สันนิษฐานว่า เป็นโรคไข้เลือดออก และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน

 

นอกจากนี้ หากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย อาจป่วยร่วมกันระหว่างโรคไข้เลือดออก กับโรคโควิด 19 จะทำให้มีอาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็ว

 

ดังนั้น เมื่อมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และจะช่วยลดความรุนแรงของการเสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422