ข่าวประกันสังคม2565 ล่าสุด หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่10 พ.ค.65 มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีไทม์ไลน์อย่างไร
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้ ได้แก่
1. การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้
2.การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ อันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถ เลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
3.การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
4.ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย
5.แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง กับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่าย หนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง
6.การแก้ไขมาตรการการลงโทษ ทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับประเด็นที่ผู้ประกันตนตั้งคำถามว่า หลังครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....แล้ว จะเริ่มเมื่อไร
สำนักงานประกันสังคม ตอบคำถามผู้ประกันตนในเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ว่า การแก้ไขเพิ่มติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน(3 ขอ) คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเร่งดำเนินการทางกฎหมาย หากมีความคืบหน้าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
ล่าสุด นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในรายการครอบครัวประกันสังคม เมื่อวันที่ 18 พ.ค.65 ว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ครม.เห็นชอบในหลักการ ขั้นตอนต่อไปจะถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขณะเดียวกันประกันสังคมก็จะทำรายละเอียดกฎหมายลูกไปพร้อมๆกัน ตอนนี้ต้องรอ ไทม์ไลน์น่าจะต้นปีหน้า
ขอกู้ ที่มีหลายภาคส่วนกังวลว่า ประกันสังคมจะเอาเงินไปให้กู้เอง ประกันสังคมไม่ได้ทำแบบนั้น จะมีธนาคารมาทำ MOU กับสำนักงานประกันสังคม ธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด ก็จะทำ MOU กับธนาคารนั้น เมื่อทำ MOU เสร็จแล้ว ก็จะประกาศให้ผู้ประกันตนทราบว่า จะกู้ได้ที่ธนาคารไหนบ้าง
หลักเกณฑ์จะต้องออกเป็นกฏหมายลูกว่า ให้กู้ได้แบบไหน ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องยอมรับ 1.ดอกเบี้ยของทางธนาคาร 2.ถ้าผิดนัดในการชำระ ซึ่งประกันสังคมไม่ได้เอาเงินออกไปให้ผู้ประกันตนกู้เอง ประกันสังคมแค่ออกเป็นเอกสารค้ำว่ากันว่า ผู้ประกันตนมีเงินสมทบอยู่เท่าไร ถ้าธนาคารให้ผู้ประกันตนกู้ หากผู้ประกันตนเบี้ยวหนี้ ประกันสังคมจะรับผิดชอบ คือ เอาเงินของผู้ประกันตนไปชำระหนี้แทนพร้อมดอกเบี้ย
"เมื่อผู้ประกันตนได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ เราจะต้องหักเงินทั้งหมดที่จ่ายให้ธนาคาร พร้อมค่าเสียโอกาสที่สำนักงานประกันสังคม ไม่ได้นำเงินไปลงทุนให้เกิดดอกผล โดยดูว่า ปีนั้นที่นำเงินไปลงทุนได้กลับกี่เปอร์เซ็น ถ้ากลับมา 3 เปอร์เซ็น ก็จะถูกหักอีก 3 เปอร์เซ็นของเงินกู้นั้น ถ้ากฎหมายลูกออก ก็จะชี้แจงให้ผู้ประกันตนทราบ เพราะฉนั้นไม่ต้องห่วงเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม เราดูแลเป็นอย่างดี
รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้ประกันตนไปที่หน้างาน ที่สำนักงานประกันสังคม ขอแบบฟอร์มขอกู้ ขอคืน ยังไม่ต้องไป กฏหมายยังไม่ออก กฏหมายประกาศใช้เมื่อไร จะแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบทั่วประเทศ
ดูคลิปนางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในรายการครอบครัวประกันสังคมฉบับเต็ม(คลิกที่นี่)