"ภาวะลองโควิด" ผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย 1 เดือนขึ้นไป หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยภาวะลองโควิด สามารถประเมินภาวะลองโควิดด้วยตนเอง ผ่านช่องทางดังนี้
• เว็บไซต์กรมการแพทย์ (คลิกที่นี่)
• Chatbot หมอพร้อม
• สื่อประชาสัมพันธ์
ลองโควิดคืออะไร?
World Health Organization Thailand หรือ WHO Thailand ตอบคำถามนี้ทางเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า หลักฐานปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าราวร้อยละ 10-20 ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 จะประสบกับ “กลุ่มอาการหลังโควิด 19” หรือที่เรียกว่า “ลองโควิด” อันประกอบด้วยอาการเรื้อรังมากมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้กับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เรามีในขณะนี้แสดงให้เห็นว่าอาการลองโควิดมีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
โดยทั่วไป อาการลองโควิดจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่อเนื่องจากอาการป่วยที่มีมาแต่ต้นได้ด้วย อาการลองโควิดเกิดขึ้นและหายไปตามกาลเวลา และในบรรดาอาการที่พบกว่า 200 อาการ 3 อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ หายใจไม่อิ่ม สมองล้า และอ่อนเพลีย
3 เดือนหลังจากที่คุณได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน หากคุณยังหายใจลำบาก สมองล้า หรืออ่อนเพลีย คุณอาจจะกำลังประสบกับอาการลองโควิดและควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญแม้คุณจะรู้สึกว่ารับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งต้องได้รับการรักษาที่ต่างออกไป
เรายังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับอาการทั้งหมดและระยะเวลาของลองโควิด หลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ว่าลองโควิดอาจกินเวลาอย่างน้อย 2 เดือน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนานถึง 6 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น นอกจากนี้เรายังพบความผิดปกติของปอด อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย ลิ่มเลือด และการเสียชีวิต ในระยะเวลา 1 ปีหลังจากเริ่มมีอาการ
เนื่องจากลองโควิดเป็นกลุ่มอาการที่กว้างมากและกระทบกับหลายระบบในร่างกาย เราจึงไม่มียาหรือวิธีรักษาเฉพาะ หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเพื่อยกระดับสุขภาวะของตนได้ เช่น ลดกิจกรรมเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าหรือหายใจไม่อิ่ม และหากมีปัญหาด้านการควบคุมสมาธิ ให้ค่อย ๆ จดจ่อกับงานทีละชิ้น ถ้าหากอาการเหล่านี้กระทบต่อชีวิตของคุณอย่างมาก หรือหนักขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้พบแพทย์ ซึ่งอาจแนะนำให้คุณเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ
เรียนรู้เพิ่มเติม: https://www.youtube.com/watch?v=2iVgZymaarI
ที่มา : กรมการแพทย์ , World Health Organization Thailand