“สุริยา ชินพันธุ์” อดีตพระเอกดัง เสียชีวิตแล้วในวัย 69 ปี

05 มิ.ย. 2565 | 03:28 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2565 | 10:40 น.

วงการบันเทิงเศร้า “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” โพสต์ข้อความแจ้งข่าวเศร้าอดีตพระเอกดัง “ตุ้ย-สุริยา ชินพันธุ์” เสียชีวิตลงแล้ว ในวัย 69 ปี หลังโรคร้ายรุมเร้า

วันนี้ (5 มิถุนายน 2565) เฟซบุ๊ก “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” นักแสดงชื่อดังและอาสาสมัครกู้ภัย โพสต์ข้อความแจ้งข่าวเศร้าอดีตพระเอกดัง “ตุ้ย-สุริยา ชินพันธุ์” ได้เสียชีวิตลงแล้ว

 

ระบุว่า “ในที่สุดก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้.. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพี่ตุ้ย สุริยา ชินพันธ์ุ ด้วย 69 ปี รายละเอียดรอภรรยาพี่ตุ้ยแจ้งให้ทราบอีกที่ครับ”

 

โดยก่อนหน้านี้ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ โพสต์ข้อความแจ้งข่าวว่า “สุริยา ชินพันธุ์” ป่วยหนัก นอนอยู่ ICU ที่โรงพยาบาลมา 5 วันแล้ว ต้องใช้เงินรักษาจำนวนมาก จึงอยากจะให้พี่ป้าน้าอาวงการบันเทิง หรือ FC ช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นได้มอบเงินช่วยไป 30,000 บาท

 

สำหรับ “สุริยา ชินพันธุ์” มีชื่อจริงว่า “ธนยศ ชินพันธุ์” (ชื่อเดิม: ประมูล ชินพันธุ์) ชื่อเล่นว่า "ตุ้ย" หรือ "เอ" เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นลูกชายคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คนซึ่งเป็นชาย 4 หญิง 2 ในบรรดาลูก ๆ ของนายวิบูลย์และนางจิตรา ชินพันธุ์

สุริยา ชินพันธุ์

ด้วยความที่ชื่นชอบเพลงลูกทุ่ง ประกอบกับมีหน่วยก้านพอที่จะเป็นดาราได้ อาจึงฝากฝังให้ ในที่สุดก็ได้เข้ากรุงเทพฯเพื่อฝึกการเป็นนักแสดง พร้อมกับ นัยนา ชีวานันท์ ที่วังละโว้ ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) โดยทำการฝึกพร้อมกับ สรพงษ์ ชาตรี โดยครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางเข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งแรกในชีวิตของสุริยาด้วย

 

“สุริยา” เข้ามาในกรุงเทพฯ ได้อยู่ในสังกัดของช่อง 4 บางขุนพรหม โดยระยะแรกใช้ชื่อจริงเลยว่า "ประมูล ชินพันธุ์" ได้ร้องเพลงลูกทุ่งกรุงไทย เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว จึงได้ลองเล่นละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือ "เลือดทาแผ่นดิน" พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น "สุริยา ชินพันธุ์" จากการตั้งชื่อให้ของ สุวัฒน์ วรดิลก พร้อมกับฝึกฝนการแสดงไปด้วย เช่นการฝึกกระบี่กระบองในละครแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ กับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ

 

ผลงานแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกจากเรื่อง "สวนสน" จากการชักชวนของ ชาลี อินทรวิจิตร โดยประกบคู่กับ ช้องมาศ ภุมรา ซึ่งเป็นนางเอก ทำให้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จากนั้นก็มีผลงานออกมาเรื่อย ๆ

 

ตามมาทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น "ผยอง", "ลูกเจ้าพระยา", "มือปืนนมสด", "นักเลงสามสลึง" และที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ "มนต์รักแม่น้ำมูล" ในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเจ้าตัวได้ร้องเพลงประกอบเรื่องไว้ด้วย โดยแสดงประกบคู่กับ กรุง ศรีวิไล ซึ่งเป็นพระเอกอีกคนด้วย

 

หลังจากนั้น สุริยา ชินพันธุ์ ก็ได้มีผลงานทางละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ อีกหลายเรื่องทาง ช่อง 7 เช่น "สิงหไกรภพ" (คู่กับ ดวงพร เอกศาสตร์), "ไชยเชษฐ์" (คู่กับ ผุสรัตน์ ดารา) กับช่อง 3 เช่น "ชะนีน้อย" (คู่กับ ผุสรัตน์ ดารา) ฯลฯ โดยเป็นทั้งผู้จัด, ผู้กำกับฯ และแสดงเอง และได้รับรางวัลเมขลาจากเรื่อง "โอรสหมาป่า"

สุริยา ชินพันธุ์

ด้านผลงานเพลง สุริยา ชินพันธุ์ ยังเป็นเจ้าของเสียงต้นฉบับในเพลง "รักเก่าที่บ้านเกิด" เป็นคนแรกอีกด้วย ซึ่งเพลงนี้ต่อมาได้มีนักร้องในรุ่นหลังหลายคนนำกลับมาร้องใหม่ และต่อมาได้ก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่งขึ้นมาด้วย ประสบความสำเร็จอยู่ได้ 3 ปีก่อนจะยุบวงลงในที่สุด พร้อมกับปัญหาสุขภาพที่เข้ามา

 

ชีวิตครอบครัว สุริยา ชินพันธุ์ สมรสกับ ระพีพรรณ เปรมรัศมี มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1 ซึ่งมีครอบครัวกันหมดแล้ว ชีวิตปัจจุบัน สุริยา ชินพันธุ์ ไม่ได้มีผลงานในวงการบันเทิงอีกแล้วเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน จนกระทั่งมีอาการอัมพฤกษ์ ภรรยาก็เลิกรากันไป จึงได้รับความช่วยเหลือจาก สรพงษ์ ชาตรี เพื่อนนักแสดงร่วมรุ่น เมื่อหายเป็นปกติ สุริยาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพสารพัด ทั้งขับแท็กซี่, ทำร้านอาหาร, เป็นผู้จัดละครโทรทัศน์

 

“สุริยา” ป่วยเป็นโรคไวรัสซีที่ตับ และอีกหลายโรค ต้องรับประทานยาเป็นจำนวนมากและเข้ารับตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุกเดือน ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการขายรองเท้ามือสองและเสื้อผ้ามือสองตามตลาดนัดจังหวัดต่าง ๆ [3] และรับจ้างร้องเพลงบ้างตามงานต่าง ๆ แล้วแต่ผู้ว่าจ้าง

 

“สุริยา” ได้อยู่กินกับ บูรพา ชินพันธุ์ ภรรยาคนปัจจุบันมานานกว่า 20 ปี ซึ่งทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน ที่บ้านพักส่วนตัวที่ย่านคลองสาม ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยภรรยาไม่ได้ทำงานเนื่องจากเคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อนเหมือนกัน และลาออกจากงานประจำเพื่อดูแลสุริยาโดยเฉพาะ ทำให้สุริยาต้องเป็นเรี่ยวแรงหลักในการหาเลี้ยงชีพแต่เพียงผู้เดียว และเคยขึ้นคอนเสิร์ต เอกชัย ศรีวิชัย พ.ศ. 2546-2548 

 

(ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, เฟซบุ๊ก “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์”)