ฝีดาษลิงในไทยเตรียมประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง อันตรายแค่ไหน เช็คเลย

09 มิ.ย. 2565 | 01:21 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 08:56 น.

ฝีดาษลิงในไทยเตรียมประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง อันตรายแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังมีการระบาดนอกเขตทวีปแอฟริกา ซึ่งเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม

ฝีดาษลิงในไทยล่าสุดสถานการณ์เป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจ และต้องการคำตอบ หลังไทยมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น 

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ไทยและอังกฤษเตรียมพร้อม ต่างประกาศให้ฝีดาษลิง(Monkeypox) เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

 

หลังจากที่มีการระบาดของฝีดาษลิงนอกเขตทวีปแอฟริกา ซึ่งเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมานั้น

 

ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไปแล้ว 43 ประเทศ จำนวน 990 ราย โดยพบในทวีปยุโรป 88% พบในทวีปอเมริกาเหนือ 10%

 

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจสำหรับการระบาดในครั้งนี้คือ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่ติดกันเองภายในแต่ละประเทศ โดยไม่มีประวัติการเดินทางไปแอฟริกาเหมือนการติดเชื้อในอดีต

 

ตลอดจนพบว่า 98% ของผู้ติดเชื้อเป็นผู้ชาย และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่พบในกลุ่ม MSM : Men who have sex with men

 

ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลก โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก ต้องเรียกประชุมด่วน กำหนดให้มีการศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องฝีดาษลิงโดยเร่งด่วน

เพราะมีลักษณะของการแพร่เชื้อที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ออกมาระบาดนอกเขตทวีปแอฟริกาซึ่งถือว่าเป็นเขตโรคประจำถิ่นเดิม และมีสัดส่วนของผู้ติดเชื้อในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจน

 

เมื่อวานนี้(7มิย2565) ทางการอังกฤษได้ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องรายงานทุกเคสแล้ว(Notifiable Disease)

 

ส่งผลให้แพทย์และผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ต่างๆ จะต้องรายงานผู้ติดเชื้อทุกราย อยู่ในระดับเดียวกับการพบวัณโรคหรือโรคหัดในประเทศอังกฤษ
เนื่องจากขณะนี้ อังกฤษมีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากถึง 300 รายเศษ

 

สำหรับประเทศไทยเราเอง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการ ก็มีมติที่จะออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
ให้โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยที่พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้แบ่งโรคติดต่อออกเป็น

 

ฝีดาษลิงในไทยเตรียมประกาศให้เป็นโรคเฝ้าระวัง

 

  • โรคติดต่ออันตรายคือ โรคที่มีความรุนแรงสูง แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ(Smallpox) ไข้เหลือง SARS MERS เป็นต้น

 

  • โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นโรคที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น

โดยโรคฝีดาษลิงที่ประกาศนี้ จะเป็นลำดับที่ 56

 

โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังที่ทางการไทยประกาศไว้ก่อนแล้ว อาทิเช่น โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โรคพิษสุนัขบ้าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (โรคเอดส์ ซิฟิลิส หนองใน) โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค โรคมือเท้าปาก โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก เป็นต้น

 

ขณะนี้ (8มิย2565) ประเทศไทยยังไม่พบเคสฝีดาษลิง แต่มีความเสี่ยงที่อาจจะมีฝีดาษลิงในประเทศไทยได้

 

เพราะขณะนี้ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อไปแล้วมากถึง 43 ประเทศ และประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศจากสถานการณ์ โควิด-19 ผ่อนคลายลง

 

แม้จะได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเรื่องฝีดาษลิง และทำการคัดกรองนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจากกลุ่มเสี่ยง

 

แต่เนื่องจากฝีดาษลิง เป็นโรคที่มีอาการอยู่ที่ผิวหนัง และบางส่วนอาจอยู่ใต้ร่มผ้า จึงเป็นการยากที่จะตรวจคัดกรองได้ทุกราย

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งเรื่ององค์ความรู้ และการวางระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

การติดต่อของโรคฝีดาษลิง มักจะติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ติดต่อทางฝอยละอองขนาดเล็ก (Aerosal) เหมือนกับโควิด-19 จึงทำให้การติดต่อหรือการระบาดเป็นไปได้ไม่กว้างขวางและรวดเร็วนัก

 

และประการสุดท้าย ฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้ (West African Clade) เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อย มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ โดยที่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงเลย