ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระแรกแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ด้วยมติเห็นด้วย 178 เสียง ไม่เห็นด้วย 137 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน เพื่อพิจารณาในวาระที่สองตามขั้นตอน
ความเป็นมา สภาพปัญหา และความจำเป็นของการออกกฎหมาย
จุดเริ่มต้นการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เสนอขึ้นโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 สมัยพรรคอนาคตใหม่
โดยเห็นว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ได้กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตสุรา หรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองต้องยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดีและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีการกำหนดกรอบเนื้อหาในการออกกฎกระทรวงไว้ให้เหมาะสม ทำให้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต และเงื่อนไขอื่นที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุ ผู้ต้องการผลิตสุราเพื่อการค้ารายเล็กหรือรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพตามกฎหมายได้ จึงสมควรต้องปรับปรุงกฎกระทรวงให้เป็นธรรม
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น เพื่อคุ้มครองบุคคลให้มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพผลิตสุราตามเงื่อนไขที่เหมาะสม เกิดการพัฒนาทักษะการผลิต พัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมสินค้าให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด และเป็นการจัดระเบียบการประกอบอาชีพของประเทศ
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
ทั้งนี้จากรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดจากกฎหมายฉบับนี้ ได้สรุปผลกระทบโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
การปิดกั้นการทำธุรกิจผลิตสุราของผู้มีทุนทรัพย์น้อย ผู้ประกอบการรายเล็ก และผูกขาดอุตสาหกรรมสุราให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการตั้งโรงงานผลิตสุรา ผูกขาดการผลิตสุราอย่างเสรี กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตที่ตราขึ้นถูกมองว่าเป็นการเอื้อให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจการผลิตสุราแก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจในที่สุด
ทั้งนี้ การผูกขาดถือเป็นช่องทางในการแสวงหากำไร “ทางลัด” ของธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดสามารถสร้างกำไรได้ง่ายด้วยวิธีการขึ้นราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหนือคู่แข่ง ธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดในตลาดนั้นย่อมได้เปรียบคู่แข่งในการครอบครองส่วนแบ่งตลาด
ดังนั้น หากภาครัฐไม่เข้ามาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือหรือป้องกันการผูกขาดในภาคธุรกิจแล้ว การถ่ายโอนกำไรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องย่อมนำไปสู่การสะสมทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเมื่อกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้สามารถเข้ามาครอบงำกลไกของภาครัฐได้ ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก ก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้การผลิตสุราเพื่อการบริโภคสามารถกระทำได้โดยทั่วไป อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจผลิตสุราขนาดใหญ่ ทำให้รายได้ลดลง และส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีของภาครัฐที่ลดลงตามมาด้วย
ผลกระทบต่อสังคม
การกำหนดให้การผลิตสุราเพื่อการบริโภคสามารถกระทำได้โดยทั่วไปการไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตฯ เกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือ ประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต หรือการไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำนั้น จะส่งผลให้เกิดการผลิตสุราและบริโภคอย่างเสรี
ทำให้ยากต่อการควบคุม และอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในแง่ของสุขภาพและอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพตามมาได้ เนื่องจากจะทำให้สุรามีต้นทุนต่ำและราคาถูก ทำให้การเข้าถึงการบริโภคสุราได้ง่าย และยากต่อการควบคุม
ขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย
หลังจากร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระแรกแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ขั้นตอนต่อไปได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน เพื่อพิจารณาในวาระที่สอง แบ่งเป็น ครม. 5 คน และพรรคการเมือง 20 คน โดยให้ กมธ.แปรญัตติภายใน 7 วัน