24 มิถุนายน ครบรอบ 91 ปี วันแห่งประชาธิปไตยของสยามประเทศ

22 มิ.ย. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2566 | 07:44 น.

24 มิถุนายน 2566 ครบรอบ 91 ปี วันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก้าวแรกสำคัญที่ประชาธิปไตยหยั่งรากและนำมาสู่การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย 

วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีนับเป็นวันสำคัญทางการเมืองไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 

พาย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 91 ปี ก่อนในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของข้าราชการและนักเรียนไทย 7 คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)

เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศ และขอให้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าผู้ก่อการโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน หลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ในวันที่ 24 มิถุนายน คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานครและจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน

ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคุณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามพุทธศักราช 2475 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย

ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติได้ออกประกาศเรียกว่า ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อ้างเหตุผลความจำเป็นในการต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ประกาศนโยบาย โดยเรียกว่า "หลักใหญ่ๆที่คณะราษฎรวางไว้" มีอยู่ว่า

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักสี่ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

คณะราษฎรได้ให้ความหวังแก่ประชาชนในแถลงการณ์สุดท้ายว่า 

"ราษฎรทั้งหลาย จงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมาย พึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆอันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง 

ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาส พวกเจ้าหมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งความเสียหายแก่บ้านเมือง และเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว 

จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 

2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสละราชสมบัติ โดยพระราชหัตถเลขา ความว่า

"ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรม ตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า 

ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป 

แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน"

ที่มา วิกิพีเดีย, 24 มิถุนายน 2547