นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีความเป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาไทยมาโดยตลอด จึงได้ออกนโยบายต่างๆ เพื่อมาช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าว ผ่านการจัดสรรค์งบประมาณไปยังกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปพัฒนา สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลผ่าน โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นกว่าทุกครั้งที่กรมการข้าวจะได้รับการจัดสรรค์งบประมาณ
สำหรับสาเหตุที่กรมการข้าวได้รับการจัดสรรค์งบประมาณที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าว คือ นโยบายสร้างความยั่งยืนของการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.60 ล้านครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 62 ล้านไร่ ใช้งบประมาณปีละประมาณ 54,000 ล้านบาท (โดยไม่รวมงบประมาณโครงการหรือนโยบายการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหลักของรัฐ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการคู่ขนานอื่นๆ)
ซึ่งค่าลดต้นทุนและค่าเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรง ผ่าน ธ.ก.ส. โดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ จึงทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของนโยบายวินัยการเงินและการคลังของประเทศไทย ที่จะต้องเพิ่มงบประมาณในการลงทุน (งบครุภัณฑ์) ของประเทศไทย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งงบลงทุนต่ำแต่เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนและให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเข้มแข็งในอนาคต รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเป็นการสนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีเป้าหมายในการสนับสนุนงบประมาณไปยังศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 5,000 ศูนย์ ทั่วประเทศ โดยโครงการจะกำหนดการสนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก (ตามแผนการปฏิบัติงานที่จะดำเนินการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว) และพิจารณาตามพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในเขตการให้บริการของศูนย์ข้าวชุมชน ดังนี้
พื้นที่ให้บริการต่ำกว่า 2,000 ไร่ จะสนับสนุน 1 ล้านบาท พื้นที่ให้บริการมากกว่า 2,000 ไร่ จะสนับสนุน 2 ล้านบาท พื้นที่ให้บริการมากกว่า 4,000 ไร่ จะสนับสนุน 3 ล้านบาท และพื้นที่ให้บริการมากกว่า 6,000 ไร่ จะสนับสนุน 4 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะกำหนดกรอบกว้างๆให้เกษตรกรทราบเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการเกษตรกรอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการระดับต่างๆ ไปพิจารณาให้ตรงกับศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรจริง
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่พี่น้องชาวนาจะได้รับจากโครงการดังกล่าวว่า โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะทำให้กลุ่มเกษตรกร และศูนย์ข้าวชุมชนมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาการผลิตข้าวของประเทศ และจะเกิดผลประโยชน์ทางตรง ซึ่งจะส่งผลให้ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 5 ต่อปี เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นบาท/ไร่ หรือ บาท/กิโลกรัม) ต่อปี อีกทั้งเกษตรกร 4.60 ล้านครัวเรือน จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว
ที่สำคัญผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับจากโครงการ 30,318 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบลงทุนภาครัฐ 15,260 ล้านบาท ได้ผลประโยชน์สูงถึง 15,058 ล้านบาท นอกจากนั้นประเทศไทยจะสามาถใช้จ่ายงบประมาณด้านงบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ลดภาระ ตลอดจนประเทศสามารถลดงบประมาณในการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวในอนาคตได้มาก