นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทย อภิปรายงบประมาณ ประจำปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นกระทรวงที่กระผมให้ความสำคัญ เนื่องจากต้องรับผิดชอบในการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ3-4 ล้านคน และกระผมเองก็เป็นลูกชาวนา ในปีงบประมาณ 2566 ต้องถือว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการตั้งงบประมาณปี2566 ไว้มากถึง 126,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา กว่า 16,214 ล้านบาทเศษ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8
“มองเผินๆ เป็นที่หน้าปลื้มใจที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของภาคการเกษตร ตามส่องลงลึกไปกว่านั้นว่างบเพิ่มในส่วนใดเหตุฉไน ถึงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นถึงหมื่นหกล้านบาทเศษ เอางบจากส่วนไหนมา ไล่ดูไปมาปรากฎว่าโยกงบในการชดเชยต้นทุนการผลิตข้าว ที่ทุกๆปีที่รัฐบาลช่วยเหลือชาวนา โดยการโอนตรงเข้าบัญชีเกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. รายละไม่เกิน 3,500 บาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาเป็นงบประมาณของกรมการข้าว 15,000 ล้านกว่าบาท เท่ากับปล้นงบประมาณที่ช่วยเหลือชาวนาโดยตรงมาจากชาวนา 4.2 ล้านครัวเรือน” เป็นที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
นายอุบลศักดิ์ กล่าวอีกว่า “ท่านประธานทราบหรือไม่ว่า งบในส่วนนี้เป็นงบประมาณของกรมการข้าว ท่านรู้หรือไม่ ว่า "กรมการข้าว" เป็นกรมที่เพิ่งแยกตัวออกมาเมื่อปี 2549 มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นข้าราชการทั้งกรม900 กว่าคน หน่วยงานส่งเสริมชาวนาในพื้นที่ไม่มีเลย ทุกปีได้รับงบประมาณไม่เกิน 3พันล้านบาท ใช้จ่ายเหลือคืนทุกปีท่านไปไล่เช็คได้ กรมการข้าว มีความหาญกล้าอย่างไรที่จะบริหารงบประมาณที่ปล้นมาจากมือชาวนาทั้งประเทศนี้"
นอกจากนี้ยังทราบมาว่าจะเป็นการสนับสนุนเครื่องจักรเกษตรเป็นรายกลุ่มกระผมไม่เชื่อเลยว่าจะบริหารงบประมาณในสวนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพต่อพี่น้องชาวนาได้อย่างทั่วถึง จะกลายเป็นว่าท่านกำลังปล้นเงินชาวนามาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มที่จำหน่าย ค้าขายเครื่องจักรเกษตรที่ท่านวางแผนไว้ จึงขอทราบว่า
1. จะบริหารงบประมาณ 1.5 หมื่นกว่าล้านนี้อย่างไร ถึงจะเกิดความเป็นธรรม จากเดิมที่ทุกรายเคยได้รับค่าสนับสนุนทุกราย และมั่นใจอย่างไรว่าผลประโยชน์ ไปถึงพี่น้องเกษตรกรซาวนา ไม่ตกอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
2. ปัจจุบันกลุ่มใดที่ท่านจะไปส่งเสริมหรือสนับสนุนมีกี่กลุ่ม เป็นกลุ่มใด แปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชน หรือ ศูนย์ข้าวชุมชน หรือสหกรณ์
3. กลุ่มเหล่านั้นมีความสามารถและมีความเข้มแข็งเพียงไรที่จะบริหารเครื่องจักรกลให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องชาวนาได้ และเกิดการพัฒนาระบบการผลิตข้าวได้อย่างแท้จริง
4. ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเขาต้องการเครื่องจักรกลเกษตรอะไรบ้างที่ท่านกำลังวางแผนซื้อแจก กรมการข้าวเคยถามความต้องการพี่น้องชาวนาหรือไม่ ที่ผ่านมาครุภัณฑ์ต่างๆกลายเป็นอนุสาวรีย์และเศษเหล็กไปหมดแล้ว
5. ท่านมีข้อมูลหรือไม่ว่าต้นทุนพี่น้องเกษตรกรจริงๆมาจากอะไร การที่ท่านวางแผนให้ซื้อเครื่องจักรกลเกษตร ลดต้นทุนไปเท่าไร่
6. การบริหารจัดการเครื่องจักรกลเกษตร ซื้อมามีค่าบำรุงรักษา ควบคุมอย่างไร
7. ความพร้อมและศักยภาพของกรมการข้าว มีมากพอที่จะบริหารงบประมาณหลักหมื่นล้านบาทรึยัง ขนาดชื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวแจกพี่น้องชาวนาเพียง สี่ร้อยล้านบาทเมื่อปี 62 ท่านยังบริหารจัดการไม่สำเร็จเลย จนถึงปัจจุบันชาวนาเหล่านั้นยังไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวเลย
ถ้ายังตอบคำถามข้างต้นไม่ได้ กระผมขอร้องอย่าซ้ำเติมพี่น้องชาวนาของผม โดยอ้างสิทธิ์ของเขามาตั้งงบประมาณว่าจะช่วยเหลือเขา ทั้งที่จริงท่านกำลังปล้นเงินมาจากเขา กระผมขอแนะนำให้คืนเงินให้พี่น้องชาวนาไป หรือถ้าหากท่านมั่นใจว่าวิธีคิดของท่านจะช่วยสร้างประสิทธิภาพภาคการผลิตข้าว ท่านเอาไปทำเท่าที่ท่านสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าทำได้ดีบังเกิดผลสำเร็จ ปีต่อไปท่านเสนอมาขอเพิ่มไปได้
กระผมไม่ขัดข้องเพราะผมอยากเห็นพี่น้องชาวนาของผมลืมตาอ้าปากได้สักทีมิใช่เพียงแค่คำที่สวยหรูว่าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวนา แต่เขาไม่ได้รับประโยชน์ใดๆเลย ยกเว้นพ่อค้าได้ขายเครื่องจักร และสุดท้ายเป็นแค่เศษเหล็ก แต่ถ้ายังดื้อดึงจะดำเนินการต่อ กระผมจะติดตามอย่างใกล้ชิดถึงการใช้เงินงบประมาณก้อนนี้ ต่อไป อย่าคิดเอาแต่ผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา หยุดซ้ำเติมเพราะชาวนาเจ็บมามากพอแล้ว
อนึ่ง "เงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 บาท หรือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 หนึ่งในมาตรช่วยเหลือเกษตรกร โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน จำนวนเกษตรกร 4.6 ล้านครัวเรือน
แหล่งข่าวกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 เรื่อง ขออนุมัติหลักการจัดทำประชาสัมพันธ์ศูนย์ข้าวชุมชนตามที่อธิบดีกรมการข้าวได้มีนโยบายในการเร่งรัดประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมที่สำคัญของกรมการข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ข้าวชุมชนเป็นองค์กรชาวนาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชน
โดยปัจจุบันมีศูนย์ข้าวชุมชนขึ้นทะเบียนตามระเบียบกรมการข้าวว่าด้วยศูนย์ข้าวชุมชนพ.ศ. 2560 จำนวน 2,478 แห่ง ในพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) โดยศูนย์ข้าวชุมชนดังกล่าว มีการดำเนินงานกิจกรรมต่อเนื่องในลักษณะการบริหารจัดการแบบชุมชนส่วนร่วม "โดยขาวนา เพื่อชาวนา" ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการข้าว ซึ่งได้วางระบบร่วมกับผู้แทนของศูนย์ข้าวชุมชน
โดยจัดตั้งคณะกรรมการในการบริทารศูนย์ข้าวชุมชนในทุกระดับ และมีการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของคณะกรรมการได้แก่ ระดับศูนย์ระดับจังพวัด ระดับเขต และระดับประเทศ จึงกล่าวได้ว่าศูนย์ข้าวชุมชนเป็นองค์กรตัวแทนของชาวนาทั้งประเทศได้อย่างแท้จริง นั้น
ข้อเท็จจริง
อธิบดีกรมการข้าวได้มีบัญชาให้สำนักบริหารกลางเร่งรัดจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์และดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานซองศูนย์ข้าวชุมชน และได้มีนโยบายให้ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เร่งรัดจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบของตนเอง สำนักบริหารกลางจึงขอสนับสนุนงบประมาณนการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ โดยให้ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ และงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง
ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
สำนักบริหารกลางพิจารณาแล้ว เห็นสมควรขออนุมัติหลักการจัดทำประชาสัมพันธ์ศูนย์ข้าวชุมชน และขอสนับสนุนงบประมาณให้สำนักบริหารกลาง จำนวน 5 แสนบาท (ห้าแสนบาทถ้วน) โดยแบ่งเป็น สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าว 27 ศูนย์ และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 29 ศูนย์ หน่วยฐานละ 8,000 บาท รวมทั้งสิ้น 450,000 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 956,000 บาท ทั้งนี้ อยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมการข้าว