วันอาสาฬหบูชา 2565 ตรงกับวันใด มีความสําคัญอย่างไร

05 ก.ค. 2565 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 15:44 น.

วันอาสาฬหบูชา 2565 ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา พร้อมกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันที่ 13 ก.ค.65 จะมีอะไรบ้าง อ่านรายละเอียดได้ทีนี่

วันอาสาฬหบูชา 2565 เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"  วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 และถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สำหรับอาสาฬหบูชาปี 2565 นี้ตรงกับวันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 


ความหมายของอาสาฬหบูชา

"อาสาฬหบูชา" (อา-สาน-หะ-บู-ชา / อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

ความสำคัญวันอาสาฬหบูชา

อาสาฬห หมายถึง เดือน 8 ทางจันทรคติ ดังนั้นคำว่า "อาสาฬหบูชา" จึงหมายถึง การบูชาในเดือน 8 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศาสนาพุทธ  3 ประการ คือ

 

1.เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร   ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

2.เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น

 

3.เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

 

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ถือเป็น เทศนากัณฑ์แรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ โดยมี 5 ท่านคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ เป็นนักบวชที่ออกบวช เพื่อติดตามปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ซึ่งโกณฑัญญะ เป็นคนแรกที่ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา

 

ประวัติวันอาสาฬหบูชา

การบูชาในเดือน 8 เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากในปี พ.ศ.2501 คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยมีความสำคัญเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน ให้เวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมเทศนา

 

ส่วนเวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา

 
เทียนเข้าพรรษา

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

 

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

 


กิจกรรมสำหรับชาวพุทธ

ตักบาตร

  • กิจกรรมในช่วงเช้าสำหรับพุทธศาสนิกชน คือ การตักบาตรใหญ่ซึ่งอาจจัดขึ้นที่วัดและตามพื้นที่ราชการ โดยมีพระสงค์จำนวนมากเข้าร่วมพิธี

 
ทำบุญ

  • พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญในวันอาสาฬหบูชาตลอดทั้งวันซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ การถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา รักษาศีล 5 หรือศีล 8 และฟังเทศน์ที่วัดในช่วงตอนเย็น

 

เวียนเทียน

  • สำหรับการเวียนเทียนเข้าพรรษาซึ่งจัดขึ้นในช่วงค่ำเพื่อแสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
งดเหล้าเข้าพรรษา

  • กิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นข้อปฏิบัติที่ถือเป็นค่านิยมในประเทศไทย เพราะการงดดื่มสุราในช่วงเวลา 3 เดือนของการเข้าพรรษานี้ ถือเป็นการปฏิบัติเพื่อบูชาศาสนา