หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ. เมือง จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร ในช่วงวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2565 โดยเกิดเหตุทั้งสิ้น 32 ครั้ง ทำให้นักวิชาการและประชาชนเกิดความกังวลใจว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวจะก่อให้เกิดสึนามิหรือไม่ ประกอบกับในโซเชียลแห่แชร์ภาพ คำเตือนระวัง "สึนามิ" ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พังงา ระนอง ภูเก็ต กระบี่ สตูล ส่งผลให้เกิดแฮทแท็ก#สึนามิ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.30 น.กรมอุตุนิยมวิทยา และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกมาชี้แจงแถลงไขเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ. เมือง จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร โดยข้อมูลสรุปจากทางกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวตั้งแต่วันที่ 4-6 ก.ค.65 ระบุว่าเกิดเหตุจำนวนทั้งสิ้น 32 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 4.0 -4.9
สำหรับแผ่นดินไหวในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการสั่นไหวปานกลาง เกิดขึ้นตามแนวการขยายตัวของพื้นมหาสมุทรอันดามันที่มีลักษณะการเลื่อนตัวแบบปกติ (Normal slip)หรือจะเรียกว่า Earthquake swarm กล่าวคือเป็นลักษณะของกลุ่มแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางจำนวนมากที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้ๆกันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
"เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว ไม่รุนแรง และไม่ก่อให้เกิดสึนามิ ส่วนกรณีเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนสูงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่เนื่องจากตอนนี้สภาพอากาศทางภาคใต้มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้คลื่นสูงและทำให้น้ำทะเลหนุนสูง ทั้งนี้ขอยืนยันว่า โอกาสที่จะเกิดสึนามิน้อยมาก อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้วรายงานให้ทราบต่อไป"
ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่าปภ. ได้ยกระดับความพร้อม ให้กับประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ภูเก็ต (รวม 27 อำเภอ 102 ตำบล) โดยจะเพิ่มความถี่ในการทดสอบการแจ้งเตือนภัยจากเดิมทุกวันพุธ เป็นทุก ๆวัน
ส่วนกรณีทุ่นสึนามิชำรุด และตอนนี้กำลังจะนำไปติดตั้งใหม่ อย่างไรก็ตามการติดตั้งนั้น ไม่สามารถนำไปติดตั้งเลย เนื่องจาก ทุ่นตัวแรก มีขนาดใหญ่ และกำลังรอส่งมอบคาดว่าจะถึงไทย ก.ค.65 ส่วนตัวที่สอง ต้องรอดูสภาพอากาศว่าดีหรือไม่ดี เบื้องต้นคาดว่า พ.ย. 65 แต่ถ้าอากาศดีขึ้นก็อาจจะไปติดตั้งเร็วกว่านั้น
ด้านความพร้อมของหอเตือนภัยสึนามิ 130 แห่ง (ซ่อม 1 แห่ง)พร้อมสำหรับการเตือนภัยสึนามิ ขณะที่หอเตือนภัยพิบัติต่างๆทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 1,500 แห่ง
"ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการติดตามและเฝ้าระวังการเกิดสึนามิของไทยว่ายังมีความสมบูรณ์ และได้มีการเตรียมการรับมือตลอด 24 ชั่วโมง"
อนึ่งรายละเอียดทุ่นสึนามิ ทั้ง 2 อันของไทย มีดังนี้
ทุ่นสึนามิของไทยทุ่นที่ 1 (ทุ่นตัวไกล) เป็นทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร โดยทุ่นตรวจวัดนี้ได้หลุดจากตำแหน่งติดตั้งไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 และได้ติดตามพบ สามารถเก็บกู้ได้ พบความเสียหายจึงได้ประสานฝากไว้ที่ประเทศอินเดีย
สำหรับทุ่นตัวใหม่ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตและกำหนดส่งถึงประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ และจะนำออกไปติดตั้งทดแทนในมหาสมุทรอินเดียได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เนื่องจากต้องรอสภาพอากาศในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันไม่ให้เป็นอุปสรรคในการติดตั้งและมีความปลอดภัย
สำหรับทุ่นที่ 2 (ทุ่นตัวใกล้) เป็นทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ได้ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบระบบระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) พบว่าทุ่นได้หลุดลอยออกจากตำแหน่งรัศมีการติดตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการเก็บกู้ และจะได้นำทุ่นตัวใหม่ไปติดตั้งทุ่นทดแทนพร้อมกับทุ่นตัวที่ 1
ส่วนระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยยังคงดำเนินการได้แม้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิหลุดจากตำแหน่ง เนื่องจากการติดตามเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยการเกิดสึนามิของประเทศไทยนั้นเป็นการใช้และประมวลข้อมูลจากหลายฐาน
โดยข้อมูลจากทุ่นสึนามิของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำทะเลจากเว็บไซต์ของ The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC เป็นต้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงาของกรม อุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย