เตือน!กัญชาติดง่าย-เร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า กฎหมายไทยควรเป็นอย่างไร อ่านเลย

07 ก.ค. 2565 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 12:25 น.

เตือน!กัญชาติดง่าย-เร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า กฎหมายไทยควรเป็นอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังประเทศไทยยังเป็นสูญญากาศตั้งแต่มีการปลดล็อกวันที่ 9 มิ.ย.

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

เมื่อเริ่มใช้กัญชาแล้ว ผู้ใช้จะติดกัญชาง่ายและเร็วกว่าผู้ใช้บุหรี่ 5.4 เท่า ติดง่ายและเร็วกว่าดื่มสุรา 2.6 เท่า

 

ในขณะนี้ ประเทศไทยมีทั้งความสับสนและกังวลเรื่องการใช้กัญชาเป็นอย่างมาก
สับสนว่ากัญชาจะให้มีการเพาะปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย และใช้อย่างไรกันบ้าง

 

จะเน้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น หรือจะเสรีไปจนถึงการให้ใช้เพื่อนันทนาการหรือบันเทิงด้วย

 

ซึ่งในขณะนี้ได้เกิดสูญญากาศของการใช้กัญชา นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้เกิดการเพาะปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย และใช้กัญชา ที่อาจจะเรียกว่าเสรีเป็นอย่างมาก

 

จนกระทั่งต้องมีการเร่งเข้ามาควบคุมโดยการใช้กฎหมายทางอ้อม 2 ฉบับคือ กฎหมายว่าด้วยเรื่องความเดือดร้อนรำคาญ และเรื่องสมุนไพรควบคุม

แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ความสับสนและกังวลเรื่องกัญชาคลี่คลายลง

 

จึงมีภาคส่วนต่างๆ ต้องทยอยออกประกาศ ระเบียบ ตลอดจนคำแนะนำเพื่อควบคุมเรื่อง "กัญชา" ในองค์กร ในหน่วยงาน หรือกับบุคคลในความดูแลของตนเอง อาทิเช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานครห้ามมีกัญชาในโรงเรียนหรือสถานศึกษา

 

คณะแพทยศาสตร์ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆห้ามมีกัญชาในบริเวณมหาวิทยาลัย

 

ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ห้ามมีกัญชาในสถานที่ของส่วนราชการนั้น

 

ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพต่างๆได้ออกข้อแนะนำการห้ามใช้กัญชาในกรณีที่มีผลกระทบ

 

กัญชาติดง่าย-เร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า

 

วันนี้จะมาวิเคราะห์ทบทวนประเด็นย่อย แต่มีความสำคัญมาก ประเด็นหนึ่งคือ
ตัวกัญชาเอง ทำให้มีการเสพติดหรือไม่ ถ้าเสพติดได้ ความยากง่ายของการเสพติดกัญชามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปเทียบเคียงกับการติดเหล้าและสูบบุหรี่

 

มีการกล่าวถึงงานวิจัย ( Lopez-Quintero ปี 2011 ) ที่บอกว่า เมื่อใช้กัญชาต่อเนื่องไปนานพอแล้ว จะทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติดได้ (Dependence)

 

แต่มีความสามารถที่ทำให้ติดน้อยกว่าเหล้าและบุหรี่ คือ กัญชาจะเสพติด 8.9% ติดเหล้า 22.7% ติดบุหรี่ 67.5%

แต่พบว่าในการวิจัยดังกล่าวนั้น เป็นการรวบรวมกลุ่มตัวอย่างในช่วงที่กัญชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ที่เริ่มใช้กัญชา มีการใช้ด้วยความถี่และปริมาณน้อยเพราะผิดกฎหมาย ใช้ยาก จึงมีสถิติออกมาว่ากัญชาติดเพียง 8.9%

 

ในขณะที่เหล้าและบุหรี่ เป็นการใช้ที่ถูกกฎหมาย มีการแพร่หลายและยอมรับในสังคม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่แตกต่าง

 

ทำให้สถิติผู้ติดเหล้าและบุหรี่มีจำนวนมากกว่า จึงไม่สามารถนำตัวเลขของกัญชามาเปรียบเทียบกับเหล้าบุหรี่ในงานวิจัยดังกล่าวได้

 

และได้มีการวิจัยอีกหนึ่งการศึกษา (Feingold ปี2020) ซึ่งทำภายหลังงานวิจัยชิ้นแรกประมาณ 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่แตกต่างกับงานวิจัยชิ้นแรกมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาโดยถูกกฎหมายได้ในบางส่วนบางประเด็น

 

ผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ใช้กัญชานั้น เมื่อใช้ไปนานพอแล้ว จะมีผู้เสพติดมากกว่าถึง 3 เท่าคือ 27% เมื่อเทียบกับผู้เสพติดในช่วงที่กัญชาผิดกฎหมายที่มีตัวเลข 8.9%

 

นอกจากนั้น ในงานวิจัยชิ้นแรกในช่วงที่กัญชาผิดกฎหมายนั้น มีตัวเลขที่น่าสนใจคือ ระยะเวลาที่ผู้เริ่มใช้ จนต่อมาก็เกิดการเสพติด โดยใช้ดัชนีว่ามีคนติด 50%

 

หรือครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ทั้งหมด ว่าจะใช้เวลาสั้นหรือยาวเพียงใด

 

หรือแปลว่าการใช้สารนั้น จะมีความสามารถในการทำให้ติดง่ายหรือติดยากเพียงใด

 

  • พบว่ากัญชาใช้เวลาเพียง 5 ปี
  • ส่วนเหล้าต้องใช้เวลา 13 ปี 
  • บุหรี่ใช้เวลานานถึง 27 ปี

 

กล่าวคือกัญชาใช้เวลาในการเสพติดสั้น หรือเสพติดง่ายกว่าเหล้า 2.6 เท่า และง่ายกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า

 

จึงสรุปได้จากงานวิจัยทั้งสองชิ้นว่า

 

  • เมื่อเริ่มมีการใช้กัญชาต่อเนื่องกันไปเป็นเวลาพอสมควร ก็มีการเสพติดได้
  • กัญชาใช้เวลาสั้นกว่าในการเสพติด โดยสั้นกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า และสั้นกว่าเหล้า 2.6 เท่า
  • กัญชาจะมีอัตราการเสพติดในช่วงที่ถูกกฎหมาย สูงกว่าช่วงที่ผิดกฎหมายถึง 3 เท่าตัว
  • การจะออกกฏหมายหรือข้อบังคับใดเกี่ยวกับกัญชา จึงควรนำข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับมิติทางด้านสุขภาพ มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม

 

แม้จะต้องนำมาตัดสินใจโดยมิติทางการเมือง ก็จะต้องเป็นการเมืองที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีข้อมูลครบถ้วนทันสมัย ไม่มีอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อน
มีความกว้างขวางมากพอที่จะครอบคลุมทุกมิติ

 

มีความลุ่มลึกในข้อมูลทางวิชาการและผลกระทบในทุกด้านอย่างเพียงพอ
เราจึงจะได้กฎหมายที่ยังประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างดีที่สุด โดยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เมื่อใช้ประโยชน์สาธารณะเป็นหลักหรือจุดยืนในการพิจารณา