รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
7 กรกฎาคม 2565
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 728,299 คน ตายเพิ่ม 1,279 คน รวมแล้วติดไป 557,178,217 คน เสียชีวิตรวม 6,366,079 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 67.58% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 39.64%
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดตจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
ล่าสุดทาง WHO ได้ออกรายงานประจำสัปดาห์ WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 6 กรกฎาคม 2565
ภาพรวมทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่ในสัปดาห์ล่าสุด มากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าราว 3% ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตลดลง 12%
ภูมิภาคที่มีจำนวนการติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงมากคือ เมดิเตอเรเนียนตะวันออก 29% ตามมาด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 20% โดยทั้งสองภูมิภาคนี้มีจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากเช่นกันคือ 34% และ 16% ตามลำดับ
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่ และย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
สายพันธุ์ที่ระบาด
จากระบบเฝ้าระวังของทั่วโลก พบว่า สัปดาห์ล่าสุด Omicron (โอมิครอน) สายพันธุ์ย่อย BA.5 ครองการระบาดทั่วโลกถึง 51.68% ตามมาด้วย BA.4 12.48% ในขณะที่ BA.2.12.1 และ BA.2 นั้นลดลงไปเหลือเพียง 10.57% และ 9% ตามลำดับ
สมรรถนะของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5
ด้วยข้อมูลวิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
เมื่อเราทราบข้อมูลวิชาการ และหลักฐานเชิงประจักษ์เช่นนี้ ก็ย่อมทราบได้ว่า ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นไม่ใช่ระลอกเล็กๆ
มองรอบตัวจะเห็นคนจำนวนมากติดเชื้อกันรัวๆ ทั้งแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม แบบครอบครัว และยกแผนกในที่ทำงาน มีทั้งที่รอดมาทุกซีซั่นแต่สุดท้ายมาโดนรอบนี้ หรือแม้แต่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ติดเชื้อซ้ำ
การฉีดวัคซีนนั้น จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้ครบอย่างน้อยสามเข็ม
ใครที่ฉีดเข็มสามไปแล้วนานกว่า 4-5 เดือน หากต้องใช้ชีวิตพบปะคนอื่นในสังคม ต้องดูแล/รักษา/บริการ หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ก็ควรพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้งเป็นเข็มที่สี่
การฉีดวัคซีนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่ไม่การันตี 100%
แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังติดเชื้อได้ หากไม่ป้องกันตัวให้ดี
และการติดเชื้อแต่ละครั้งย่อมเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
ย้ำอีกครั้งว่า การใส่หน้ากากเสมอ เวลาเราออกไปตะลอนนอกบ้านนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ควรใส่ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของเรา
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ "วิชชา" เป็นความรู้ที่เราควรนำไปพิจารณาใช้ในการตัดสินใจดำเนินชีวิต เพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน
สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยโรคระบาด และสิ่งเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตทั้งของตัวเรา คนในครอบครัว และเพื่อนสนิทมิตรสหาย
จะสู้ได้ ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ประมาท ไม่หลงต่อกิเลส ความเชื่องมงายครับ