รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
อัพเดต BA.2.75 (nickname: Centaurus)
Yamasoba D และคณะวิจัยจากญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการวิจัยใน bioRxiv วันที่ 15 กรกฎาคม 2565
โดยศึกษาพบว่า BA.2.75 นั้นมีลักษณะการดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้ในการรักษาหลายชนิด
เฉกเช่นเดียวกับ Omicron (โอมิครอน) สายพันธุ์ย่อยที่ระบาดมาก่อน
แต่ยาแอนติบอดี้บางชนิดก็ยังสามารถใช้ได้ผลในการจัดการเชื้อ เช่น Regdanvimab, Sotrovimab, Tixagevimab
ในขณะที่ Cao YR จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการแบบไม่เป็นทางการ
ชี้ให้เห็นว่า "BA.2.75" นั้นมีแนวโน้มจะจับกับตัวรับ ACE2 ได้มากกว่า BA.4 และ BA.5
แต่ในเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันนั้น ศึกษาโดยดูภูมิคุ้มกันจากคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่า
BA.2.75 ดื้อกว่า BA.2.12.1 แต่อาจน้อยกว่า BA.4 และ BA.5
ยกเว้นกรณีที่เป็นคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามาก่อน
BA.2.75 จะดื้อต่อภูมิมากกว่าคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron BA.1 และ BA.2 มาก่อน
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการ
และจากการวิจัยอื่นๆ ในเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ยืนยันลักษณะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ BA.2.75
สำหรับการระบาดของไทยเราตอนนี้ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง
ใส่หน้ากากให้ถูกต้องสำคัญมาก