โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 รุนแรงแค่ไหน ติดต่อง่ายไหม

20 ก.ค. 2565 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 16:32 น.

รู้จัก โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.75 หลังประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้เป็นการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง มีโอกาสติดเชื้อ แพร่กระจายได้มากขึ้น พร้อมแนะวิธีป้องกัน

กรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.75 รายแรก เป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย

 

โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75  พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565)

รู้จัก  โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่

  1.  ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด 19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น 
  2. การกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย 

โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 รุนแรงแค่ไหน

  • องค์การอนามัยโลกจัด BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM)
  • ความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป
  •  

วิธีป้องกันการตัดเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ