รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
อัพเดตธรรมชาติของ BA.5 ในสหราชอาณาจักร
UK HSA ออกรายงานล่าสุด SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England: Technical briefing ฉบับที่ 44
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญนั้นเกี่ยวกับไวรัสโรคโควิด-19 ที่ระบาดในสหราชอาณาจักร
1. BA.5 ที่ครองการระบาดอยู่นั้น มีอัตราการขยายตัว (relative growth rate) เร็วกว่า BA.2 ที่เคยครองการระบาดมาก่อนถึงราว 50%
2. จากธรรมชาติการระบาดของ BA.5 ในสหราชอาณาจักรพบว่า สัดส่วนของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นการติดเชื้อครั้งแรก 60% และเป็นการติดเชื้อซ้ำ (reinfection) 40%
นั่นคือ อัตราส่วนระหว่างการติดเชื้อใหม่ กับการติดเชื้อซ้ำ อยู่ราว 3:2
สำหรับไทยเรานั้น ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเหมือนสหราชอาณาจักร หรืออเมริกา การได้ทราบข้อมูลของต่างประเทศสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์ของเราได้ เพราะธรรมชาติของเชื้อโรค และลักษณะของการระบาดมักไม่ต่างกันมาก
ปัจจัยกำหนดความหนักหนาของการระบาดของแต่ละประเทศที่จะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ไวรัส ได้แก่
นโยบายและมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด, ระบบบริการสาธารณสุข ว่ามีบริการตรวจ ให้ยา ให้วัคซีน ชนิดที่ดี มีเพียงพอ
และเข้าถึงได้ยากง่ายมากน้อยเพียงใด, และพฤติกรรมในการป้องกันตัวของแต่ละคนระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่
การใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง การหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงสถานที่เสี่ยง เป็นต้น
หากประเมินตามปัจจัยข้างต้น คนไทยเราคงจะทราบกันได้ดีว่า ความเสี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวันในสภาพปัจจุบันย่อมมีความเสี่ยงสูงมาก
เพราะระบาดจำนวนมาก กระจายทั่ว แต่ระบบบริการเรื่องการตรวจ ยา และวัคซีน ในช่วงที่ผ่านมานั้นยังมีปัญหาทั้งในเรื่องปริมาณ ชนิด ห้วงเวลาในการจัดหา และปัญหาในการเข้าถึงบริการ
ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเรานั้นคือ
การมี Health consciousness หรือความใส่ใจเรื่องสุขภาพของทั้งตัวเอง สมาชิกในครอบครัว
ย้ำอีกครั้งว่า การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเวลาตะลอนออกนอกบ้านไปใช้ชีวิตประจำวันนั้นมีความสำคัญยิ่ง
เพราะโควิด-19 ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย
แต่ป่วยได้ ตายได้ และที่จะทรมานคือ Long COVID ในระยะยาวที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต
สมรรถนะการดำรงชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม