เช็คพิกัด ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บีตกสู่พื้นโลกวันนี้!

30 ก.ค. 2565 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2565 | 02:22 น.

GISTDA เผย พิกัดชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บีตกสู่พื้นโลกวันนี้ อัพเดทล่าสุด ตกในบริเวณทะเลซูลูของประเทศฟิลิปปินส์ ไม่ส่งผลกระทบกับไทย

จากกรณี ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center ของ GISTDA  ได้เปิดเผยข้อมูลพื้นที่บางส่วนของประเทศไทยที่ จรวด Longmarch-5B (ลองมาร์ช 5บี) ซึ่งโคจรพาดผ่านเมื่อวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 จำนวน 2 รอบ ซึ่งคาดว่า อาจจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยนั้น

 

โดยช่วงเย็นวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า จุดที่คาดว่า ชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี จะตกสู่พื้นโลก คือ "บริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนใต้" โดยช่วงเวลาที่คาดว่า จะตกไม่น่าเกิน 6 ชั่วโมงหลังจากเที่ยงคืนคืนนี้ หรือ ย่างเข้าสู่เช้าของวันที่ 31 ก.ค. 2565 ซึ่งปัจจุบัน "ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย" ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก

 

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 02.16 น. ช่วงเช้าของวันที่ 31 ก.ค. 65 GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ S-TREC แจ้งว่า

 

เศษชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5 บี ได้เริ่มเผาไหม้ตั้งแต่อยู่เหนือน่านฟ้าของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และได้ตกในบริเวณทะเลซูลูของประเทศฟิลิปปินส์ (จุดสีเหลือง) เมื่อเวลา 23.53 น. ของวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565

 

โดยเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแต่อย่างใด

 

เช็คพิกัด ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บีตกสู่พื้นโลกวันนี้!

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากจรวดลองมาร์ช 5 บี ได้เสร็จสิ้นภารกิจการนำ เวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 ซึ่ง GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดดังกล่าว จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565

 

สำหรับการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ได้ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้นทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า การโคจรพาดผ่านข้างต้นจะมีชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บีที่จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 และอาจกระทบไทย 1.2% ในหลายจังหวัดได้ ดังนี้

 

รอบแรก โคจรจากฝั่งตะวันตกไปยังตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ระหว่างเวลา 02:01:33 น.- 02:03:16 น. ผ่าน 12 จังหวัด 

  • ราชบุรี 
  • นครปฐม 
  • พระนครศรีอยุธยา 
  • สระบุรี 
  • ลพบุรี 
  • นครราชสีมา 
  • ชัยภูมิ 
  • ขอนแก่น 
  • กาฬสินธุ์ 
  • อุดรธานี 
  • สกลนคร 
  • นครพนม

รอบที่ 2 โคจรจากทิศเหนือไปยังตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ระหว่างเวลา 11:21:06 น.- 11:22:57 น. ผ่านจังหวัดต่าง ๆ 

  • แม่ฮ่องสอน 
  • เชียงใหม่ 
  • ลำพูน 
  • ลำปาง 
  • สุโขทัย 
  • อุตรดิตถ์ 
  • พิษณุโลก 
  • เพชรบูรณ์ 
  • ชัยภูมิ 
  • นครราชสีมา 
  • บุรีรัมย์ 
  • สุรินทร์

 

ที่มา GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)