ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “ธัชวิทย์” วิทยสถานเพื่อการพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
โดย ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงมิติการสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการดำเนินงานเพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงเป้าหมายในการเริ่มทำ “ธัชวิทย์” ที่เห็นว่าต้องมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีสติปัญญา มีประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดสมัยใหม่ มารวมตัวกันและดึงเอาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของคนเหล่านี้มาช่วยในการคิดแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อน และสร้างโอกาสให้กับประเทศ โดยเครือข่าย Think Tank มีบทบาทสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1. บทบาทในการช่วยคิดเชิงนโยบายสาธารณะ ว่าจะสามารถพัฒนาประเทศ ให้เดินต่อไปในทิศทางใด ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สอวช. สามารถนำแนวคิดนั้นมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้
2. บทบาทในการชี้นำสังคม หรือ Public Advocacy เนื่องจากคนกลุ่มนี้ได้รับการยอมรับจากสังคม สามารถช่วยชี้ทิศทางที่เกิดประโยชน์กับสังคม เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้
ในส่วนกลไกการทำงานของ Frontline Think Tank ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า สวอช. ได้คิดแพลตฟอร์มขึ้นมา 2 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย แพลตฟอร์ม Policy Innovation Platform for the Better Future (PIP) หรือ แพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบายเพื่ออนาคตไทย เป็น Digital Open Platform ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีไอเดียมาร่วมเสนอความเห็นว่า ประเทศไทยควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในทิศทางใด มีกลไกหรือนโยบายอะไรที่ควรทำ
จากนั้นจะมีทีมงาน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้านมาร่วมคัดเลือกไอเดียที่สามารถต่อยอดไปเป็นนโยบายได้ โดยนโยบายที่น่าสนใจนอกจากจะได้รับรางวัลแล้ว จะถูกนำไปขับเคลื่อนจริง และมีโอกาสได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศในอนาคต
อีกส่วนหนึ่งคือแพลตฟอร์ม Thailand Higher Education and Innovation Policy Accelerator (THIPA) ที่จะเป็นกลไกการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มใหม่ โดย THIPA จะทำงานคล้ายกับสตาร์ทอัพ เมื่อมีไอเดียจากกระทรวง อว. หรือกระทรวงอื่นๆ จะถูกนำมาเป็นต้นแบบนโยบาย สามารถนำมาขึ้นเป็นต้นแบบบนแพลตฟอร์มนี้ได้ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองนำไปปฏิบัติ และเก็บข้อมูลต่อว่านโยบายนั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่
ถ้าได้ก็จะนำเข้าสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อนำไปใช้จริงต่อไป นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมกับสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดโครงการอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology and Innovation Policy Design Training Program: STIP) ขึ้นมา เพื่อพัฒนานักนโยบายรุ่นใหม่ ที่ยังขาดประสบการณ์ ให้ทดลองคิดนโยบายจริงขึ้นมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ มาเป็นที่ปรึกษาด้วย
สำหรับตัวอย่างประเด็นที่ Frontline Think Tank จะขับเคลื่อน ดร. กิติพงค์ กล่าวถึง โจทย์สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งการจะออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ต้องขยับจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้น จากที่ในปัจจุบัน มีจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ต้องให้ขึ้นไปถึง 28 ล้านล้านบาท ซึ่งความหวังที่จะไปสู่เป้าหมายได้
ดร. กิติพงค์ มองว่าคือ การผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises) และต้องอาศัยคนที่รู้นวัตกรรมหรือการจัดการนวัตกรรมมาช่วยคิด อีกส่วนหนึ่งคือสภานโยบายฯ ได้ผลักดันให้เกิด University Holding Company เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถทำธุรกิจนวัตกรรมได้
นอกจากนี้เรายังมีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ทั่วประเทศ ที่มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยอยู่ 30-40 แห่ง และแต่ละแห่งก็มีสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจนวัตกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก หากสามารถผลิตและผลักดันกลุ่มเหล่านี้ต่อไปได้ ก็เชื่อว่าภายใน 5 ปี จะสามารถผลิตผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมไปสู่เป้าหมาย 1,000 รายได้ แต่ยังมีโจทย์ที่ท้าทายคือ จะยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการให้ไปสู่ 1,000 ล้านบาทได้อย่างไร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีคนคิดเชิงนวัตกรรม จากทั้ง ธัชชา และธัชวิทย์ มาร่วมด้วยช่วยกัน และใช้พลังของเครือข่ายมาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศให้สำเร็จได้
ด้านโจทย์สำคัญที่ ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยึดเป็นนโยบายสำคัญ คือเรื่อง Social mobility จะทำอย่างไรที่จะยกระดับคนฐานรากของไทยขึ้นมาได้ทั้งหมด เนื่องจากมองว่า การแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไป ไม่สามารถทำได้ง่าย จึงต้องมองถึงการยกสถานะทางสังคมให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ภายในปี 2065 จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องอาศัยนวัตกรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งโจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เครือข่าย Think Tank จะต้องร่วมกันคิด หาแนวทางแก้ไข และ สอวช. จะเชื่อมโยงการทำงานต่อ ว่ารัฐบาลจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างไร