นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่มิเตอร์) ว่า ที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากผู้ขับแท็กซี่ได้ยื่นเรื่องถึงกรมขนส่งทางบก (ขบ.) เบื้องต้น ได้รับทราบจาก ขบ. ว่าได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะ โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สภาคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะ และองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันให้พิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ เนื่องจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 7% จาก 5 ปีก่อน หรือตั้งแต่ปี 2560
"ผมได้มอบหมายให้ กรมฯ พิารณาตัวเลขการปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าว หากดัชนีCPI มีการปรับขึ้นค่าโดยสารก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าในกรณีดัชนีCPIลดลง อัตราค่าโดยสารก็ต้องปรับตัวลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นของสภาผู้บริโภค มองว่าหากปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ ซึ่งในมุมของผู้ให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบันก็ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานแล้วเช่นกัน"
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนอีก 2 ครั้ง โดยจะจัดขึ้นภายในเดือนกันยายน และตุลาคมนี้ ทั้งในรูปแบบเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรูปแบบออนไลน์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารภายในเดือนธันวาคม 2565 แต่หากท้ายที่สุดไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ผมก็ไม่สามารถอนุญาติพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารได้
นอกจากนี้ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระบบขนส่งมวลชนอีกหลายทางเลือก เช่น เรือ รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันกรมฯ เริ่มคิกออฟรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ให้บริการแล้วจำนวน 153 คัน เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา แบะตั้งเป้าเปิดให้บริการรถเมล์อีวีจำนวน 1,250 คัน ภายในปี 2565 นี้ต่อไป ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัท บขส. จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อีกทั้งกระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าการให้บริการรถสาธารณะรูปแบบเดิม (รถร้อน) จะหมดไปภายใน 3 ปี