ปัญหาคนรุ่นใหม่ไร้งาน หรือที่เรียกว่า "NEETs" (Not in Education, Employment, or Training) กำลังกลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ปัจจุบันมีคนรุ่น Gen Z หรือคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2541-2565 (1998-2024) มากกว่า 4 ล้านคนในสหรัฐฯ และอีกกว่า 100,000 คนในสหราชอาณาจักรที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจของคนรุ่นใหม่อย่างที่บางคนกล่าวหา แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ล้มเหลว และ "ปริญญาไร้ค่า" ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้จริง
ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้บัณฑิตจำนวนมากพบว่าปริญญาที่ตัวเองลงทุนไปกลับไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า หลายคนจบมาแล้วต้องเผชิญกับภาวะ "underemployed" หรือการได้งานที่ไม่ตรงกับคุณวุฒิ และมีรายได้ต่ำเกินกว่าจะใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง
ปีเตอร์ ฮิตเชนส์ นักวิเคราะห์การเมืองและนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ ถึงกับออกมาวิจารณ์ว่าปัญหานี้เป็น "หายนะ" เพราะมหาวิทยาลัยกำลังผลิตปริญญาที่ไม่มีมูลค่าในตลาดแรงงาน "คนหนุ่มสาวจำนวนมากถูกส่งไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ปริญญาที่ไม่มีความหมายอะไรเลย พวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่ามากหากได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ เช่น ช่างประปาหรือช่างไฟฟ้า ซึ่งให้ทั้งความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า"
ในขณะที่อุตสาหกรรมบางประเภทอย่างการแพทย์ยังคงมีตำแหน่งงานรองรับ โดยเฉพาะอาชีพผู้ช่วยดูแลสุขภาพและพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะมีตำแหน่งใหม่เพิ่มขึ้นกว่าล้านตำแหน่งในทศวรรษหน้า แต่บัณฑิตที่จบจากสาขาอื่นๆ จำนวนมากกลับพบว่าเส้นทางอาชีพของตนเองเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
แม้ว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยจะยังคงเป็นหนึ่งในเส้นทางที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 681% ในช่วง 40 ปี แต่ปัญหาคือหลายคนต้องรับภาระหนี้สินทางการศึกษาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางตลาดงานที่ไม่แน่นอน หลายคนไม่มีทางเลือกนอกจากทำงานนอกระบบ หรือพักการหางานไปก่อน เพราะต้นทุนชีวิตสูงเกินกว่าที่จะเริ่มต้นทำงานได้จริง
เจฟฟ์ บูลันดา รองประธานองค์กร Jobs for the Future ระบุว่า หนึ่งในปัญหาหลักคือระบบการศึกษามุ่งเน้นแต่การส่งเสริมปริญญาตรี 4 ปีว่าเป็นเส้นทางเดียวสู่ความสำเร็จ ทั้งที่อาชีพด้านทักษะเฉพาะทาง เช่น ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ และอาชีพที่ใช้ทักษะสายอาชีพ กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ
"เราต้องทำให้คนหนุ่มสาวมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง และสามารถเปรียบเทียบต้นทุน คุณภาพ และมูลค่าระยะยาวของเส้นทางอาชีพที่แตกต่างกันได้" บูลันดากล่าว
วิกฤติของ NEETs ไม่ได้เกิดจากการขาดทักษะเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง หรือค่าครองชีพทั่วไป ทำให้บางคนถึงกับต้องปฏิเสธงานที่พวกเขาต้องการเพราะไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางหรือค่าชุดทำงานได้
นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของตลาดงานจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ ทำให้โอกาสของคนรุ่นใหม่ในตลาดแรงงานยิ่งหดตัวลง หลายคนจึงเลือกที่จะอยู่บ้านและใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่าการดิ้นรนหางานที่ไม่มีความแน่นอน
องค์การสหประชาชาติเตือนว่า คนหนุ่มสาวจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดงานในอนาคต และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ปัญหานี้จะยิ่งเลวร้ายลง
เลวิส มาเลห์ ซีอีโอของ Bentley Lewis บริษัทจัดหางาน ระบุว่ามหาวิทยาลัยต้องทำมากกว่าการให้ความรู้ทางวิชาการ พวกเขาต้องช่วยเหลือนักศึกษาให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงาน ทั้งในเรื่องของโอกาสในการทำงาน อุปสรรคทางจิตใจ และการปรับตัวให้เข้ากับโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
"มหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งใจทำให้นักศึกษาล้มเหลว แต่ระบบการศึกษากลับไม่สามารถส่งมอบสิ่งที่เคยให้คำมั่นไว้ได้" มาเลห์กล่าว
แนวทางแก้ไขปัญหา NEETs ควรประกอบด้วยการเพิ่มช่องทางให้เยาวชนสามารถเข้าถึงอาชีพได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบฝึกงาน การฝึกอบรมวิชาชีพ และการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เยาวชนมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
"เมื่อคนหนุ่มสาวไม่รู้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง ไม่มีใครช่วยชี้แนะแนวทาง และทุกอย่างดูเหมือนเป็นความเสี่ยงหรือเกินเอื้อม ก็ไม่แปลกใจที่หลายคนจะหยุดพยายาม" บูลันดากล่าว "คำถามไม่ใช่ว่าทำไมพวกเขาถึงถอยออกมา แต่ทำไมเราถึงยังใช้ระบบเดิมที่ไม่ได้ผล และไม่ให้ทางเลือกที่ดีกว่าแก่พวกเขา"
ปัญหาคนรุ่นใหม่ที่ไร้งานและไม่มีโอกาสทางอาชีพไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นแต่ปริญญามหาวิทยาลัย ไปสู่การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง และตอบโจทย์ตลาดแรงงานจริง
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตัวเลข NEETs อาจสูงขึ้นกว่านี้ และเศรษฐกิจในหลายประเทศอาจเผชิญกับแรงงานที่ขาดทักษะสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในอนาคต
อ้างอิง: Yahoo News