หอการค้าฯ จี้รัฐสื่อสารเชิงรุก-สร้างระบบเตือนภัยพิบัติ“แผ่นดินไหว”

31 มี.ค. 2568 | 05:11 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2568 | 06:21 น.

หอการค้า-สภาหอฯ ออกแถลงการณ์ "เรียกความเชื่อมั่น เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังเหตุแผ่นดินไหว" จี้รัฐสื่อสารเชิงรุก สร้างระบบเตือนภัยพิบัติ เรียกความเชื่อมั่นประชาชน-ต่างชาติ

รายงานข่าวจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (31 มี.ค. 2568) ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์  ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ ได้นำทีมคณะกรรมการหอการค้าไทยออกแถลงการณ์ โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้สูญเสียและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาและกระทบมายังหลายพื้นที่ของประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

 

ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์  ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่

 

ทั้งนี้จากรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 เวลา 18.00 น. พบว่า

  • มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย
  • เสียชีวิต 18 ราย
  • สูญหาย 78 ราย (ตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการค้นหาและให้ความช่วยเหลือ)

 

ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ หอการค้าฯ ขอส่งกำลังใจไปยังทุกท่านและครอบครัวที่ประสบภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่และบุคลากรทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ลดละ และขอยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อได้ หากมีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว โปร่งใส และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องออกสู่สังคม

หอการค้าไทยขอชื่นชมและเป็นกำลังใจต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงหน่วยงานควานความมั่นคงที่ระดมความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภายได้การนำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมระดมทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบและประเมินสภาพอาคารอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ เพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างเต็มที ถือเป็นการบริหารสถานการณ์เชิงรุกที่ช่วยคลี่คลายความตื่นตระหนกและเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนอย่างยิ่ง

หอการค้าไทยขอให้ทางรัฐบาลช่วยประสานงานไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ให้มีหน่วยงานกลางที่ช่วยประสานงานเข้าแก้ปัญหาในรูปแบบเดียวกันกับกรุงเทพมหานคร

หอการค้าฯ จี้รัฐสื่อสารเชิงรุก-สร้างระบบเตือนภัยพิบัติ“แผ่นดินไหว”

นอกจากนั้น ยังขอชื่นชมหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จัดมาตรการที่เหมาะสมและรวดเร็ว มายังประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ

  • มาตรการ "พักหนี้-ลดดอกเบี้ย" ของ ธปท รวมถึง 7 ธนาคารพาณิชย์ SMED Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
  • มาตรการด้านประกันภัย จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ที่เร่งดำเนิบการช่วยเหลือและจ่ายค่าสิบไหนให้ผู้ถือกรมธรรม์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ

 

ทั้งนี้หอการค้าไทยขอนำเสนอแนวทางข้อเสนอของต่อภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การจัดการด้านความปลอดต่อภัยพิบัติ รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ดังนี้

 

1.เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในตึกอาคารอย่างรวดเร็วที่สุด โดยร่วมมือกับประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นแบบอย่างในการป้องกันปัญหาไม่ให้ในอนาคต

2.กำหนดให้มีตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ทั้งสำนักงาน โรงงาน อาคารสูง และสิ่งปลูกสร้างในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงสอบหาข้อเท็จจริงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

3.เร่งจัดทำระบบเตือนภัยพิบัติไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีโดยด่วน และการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและซักซ้อมแผนฉุกเฉิน ในกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และภาคธุรกิจ พร้อมระบบสื่อสารฉุกเฉิน และอบรมเจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการ

4.การส่งเสริมมาตรฐานผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้างระบบควบคุมอาคารและการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์

5.เร่งรัดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการประสานผู้ประกอบการด้านก่อสร้างและวัสดุ เพื่อซ่อมแชมอาคารและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด อันจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

6.การสื่อสารเชิงรุก เชิงบวกและสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนมั่นใจว่าไทยสามารถบริหารสถานการณ์ใด้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. รัฐบาลควรมีหน่วยงานกลางที่จะเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารให้ทันเวลา โปร่งใส อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ที่เป็นจริงให้กับสาธารณชนและต่างประเทศได้รับทราบ

8.หอการค้าไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยแก้ไขปัญหาการช่วยเหลือ SMEs และสมาชิก อาทิ การซ่อมแซมอาคารที่ได้รับผลกระทบ หรือมาตรการสินเชื่อ เพื่อแก้ไขผลกระทบดังกล่าว

ทั้งนี้หอการค้าไทยพร้อมประสานงานและสนับสนุนสมาชิก ที่เป็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการ์ฉุกเฉินนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และร่วมฟื้นฟูประเทศไทยให้มั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน ขอให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยความปลอดภัย และร่วมกันสร้างประเทศไทยที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น