thansettakij
ครม. ดัน “ประเพณีลอยกระทงในไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมต่อยูเนสโก

ครม. ดัน “ประเพณีลอยกระทงในไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมต่อยูเนสโก

27 มี.ค. 2568 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 07:56 น.

มติครม.ล่าสุด เห็นชอบการเสนอเอกสาร รายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” เสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ฯต่อยูเนสโก

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ (27มี.ค.68) มีมติเห็นชอบเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” (Loy Krathong: Traditional Water - honoring Festival in Thailand) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) (ยูเนสโก)  

 

โดยให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (คณะกรรมการฯ) เป็นผู้ลงนามเอกสารนำเสนอรายการประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ตามเอกสารแนวทางการอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.  2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) (อนุสัญญาฯ) กำหนดให้รัฐภาคียื่นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

สาระสำคัญของเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” (Loy Krathong : Traditional Water-honoring Festival in Thailand) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเพณีที่สำคัญของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีคุณค่าความสำคัญในหลายมิติ เช่น

 

1.ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ประเพณีควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม

 

2. มีความเกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านมุขปาฐะแนวปฏิบัติทางสังคม งานช่างฝีมือ ดนตรีและการละเล่น และความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

 

3. สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ดังนั้น การเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย

เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกจะช่วยส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ (Soft Power) ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สืบทอด สร้างความภาคภูมิใจ ความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม เสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลก

 

โดยเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567

 

ประกอบกับ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมองค์การระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การเสนอรายการประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ