thansettakij
เปิดสาเหตุแผ่นดินไหว 8.2 “รอยเลื่อนสะกาย” เขย่าเมียนมา-ไทย

เปิดสาเหตุแผ่นดินไหว 8.2 “รอยเลื่อนสะกาย” เขย่าเมียนมา-ไทย

28 มี.ค. 2568 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2568 | 09:30 น.

ทำความรู้จัก “รอยเลื่อนสะกาย” คืออะไร? สาเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 แมกนิจูดในเมียนมา ส่งผลสั่นสะเทือนแรงถึงไทย

เมื่อเวลาประมาณ 13:20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ที่ประเทศเมียนมา โดยมีจุดศูนย์กลางลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร  

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รู้สึกถึงการสั่นไหว โดยเฉพาะในอาคารสูงที่มีรายงานการแกว่งตัวอย่างชัดเจน  

สาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้มาจากการเคลื่อนตัวของ "รอยเลื่อนสะกาย" (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน

ในอดีต รอยเลื่อนสะกายเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เมืองพะโค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน

"รอยเลื่อนสะกาย" (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ พาดผ่านกลางประเทศเมียนมา ครอบคลุมเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น มิตจีนา มัณฑะเลย์ ตองยี เนปิดอว์ พะโค และย่างกุ้ง ด้วยเหตุนี้ รอยเลื่อนสะกายจึงถูกขนานนามว่า "ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา"

รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนชนิดระนาบเหลื่อมขวา (Right Lateral Strike-Slip Fault) ที่มีอัตราการเคลื่อนตัวเฉลี่ยประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี  ในอดีต รอยเลื่อนนี้เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง เช่น 

• วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 บริเวณเมืองพะโค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน

• ปี พ.ศ. 2493 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลาย และแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงภาคเหนือและกรุงเทพมหานครของไทย

เนื่องจากรอยเลื่อนสะกายมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บ่อยครั้ง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเมียนมา แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่
เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ พะเยา ลำปาง เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย สุพรรณบุรี
สิงห์บุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา รวมถึง กทม. นนทบุรี สมุทรสาคร
และสมุทรปราการ และส่งผลต่อโครงสร้างอาคารสูง

 

การเตรียมความพร้อมและการเฝ้าระวัง

เนื่องจากรอยเลื่อนสะกายมีศักยภาพในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยประกาศให้ประชาชนเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน