สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร งบประมาณ 2,560 ล้านบาทและได้ผู้ชนะการประกวดราคาคือ กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดที่ 2,136 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 386.15 ล้านบาท
สตง.ย้ำว่าเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต สตง. ได้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี เพื่อเป็นแบบอย่างในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ย้อนกลับไปในปี 2550-2556 มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไว้ 4 รายการ แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างอาคาร 3 รายการ และค่าควบคุมการก่อสร้าง 1 รายการ ดังนี้
สถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ อนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2550 งบผูกพันข้ามปี 2551-2553 วงเงิน 338,950,000 บาท
อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน อนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2552 งบผูกพันข้ามปี 2553-2555 วงเงิน 988,000,000 บาท
อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ระยะที่ 2 อนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 งบผูกพันข้ามปี 2554-2556 วงเงิน 500,000,000 บาท
ค่าควบคุมการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล อนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2556 งบผูกพันข้ามปี 2557-2559 วงเงิน 5,956,600 บาท
รวมเป็นค่าก่อสร้างวงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท และค่าควบคุมการก่อสร้างของสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ (อาคารแรกเท่านั้น ) อีกเกือบ 6 ล้านบาท
ปี 2563 โครงการได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อสตง.ยื่นเรื่องไปยังครม.เพื่อขออนุมัติงบในการก่อสร้างเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงรายการ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติตามที่สตง.เสนอมา โดยเปลี่ยนแปลงรายการจากเดิม 4 รายการ เหลือ 2 รายการ พร้อมเพิ่มวงเงินการก่อสร้างและค่าควบคุมการก่อสร้าง ดังนี้
ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ งบผูกพันข้ามปี 2563-2566 วงเงิน 2,560,000,000 บาท
ค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ งบผูกพันข้ามปี 2563-2566 วงเงิน 76,800,000 บาท
จากข้อมูลนี้จะพบว่าจากปี 2556 มาจนถึง 2563 ภายในระยะเวลา 7 ปี ค่าก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ของสตง.เพิ่มขึ้นจาก 1800 ล้านบาทเป็น 2,560 ล้านบาท ต้องใช้เงินเพิ่มอีก 733 ล้านบาท หรือ 40% ของวงเงินเดิมที่เคยขอไว้
ส่วนการเพิ่มวงเงินค่าควบคุมการก่อสร้างจากเดิมควบคุมเพียงอาคารเดียววงเงินใหม่คือการควบคุมทั้งโครงการจาก 5.956 ล้านบาทเป็น 76 ล้านบาท
มีความน่าสนใจในหนังสือที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งไปยังผู้เกี่ยวข้อง ได้ให้ความเห็นอยู่ 2 เรื่องคือการต่อสัญญาในการเช่าที่ดินจากการรถไฟให้เจรจาปรับปรุงค่าเช่าให้ต่ำที่สุดในเรทของราชการ สองคือบอกกับสตง.ว่า “หากต้องทำโครงการลักษณะนี้อีกในอนาคต ให้ดูความพร้อมและต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างละเอียดและรอบคอบครบถ้วนทุกมิติก่อนจะเสนอขออนุมัติโครงการ”
ต่อมาอีก 4 ปี ในปี 2567 สตง.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติวงเงินค่าควบคุมงานก่อสร้างเพิ่มเติม จากวงเงิน 76,800,000 บาท เป็น 84,371,916 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ามีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไป (เพิ่มขึ้นอีก 9,718,716 บาท)
เดิมโครงการมีระยะเวลาการก่อสร้าง 1,080 วัน เริ่มตั้งแต่ส่งมอบพื้นที่วันที่ 15 ม.ค. 2564 และครบกำหนด 31 ธ.ค. 2566 แต่มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปด้วย 2 เหตุผล
สถานการณ์โควิด 19 และการวางศิลากฤษ์ 58 วัน
การแก้ไขแบบ Load factor Core wall และการสัญจร รถบรรทุกใต้ดินรวม 97 วัน
ขณะที่การเข้าพื้นที่ของการควบคุมการก่อสร้างเข้าหลังการส่งมอบพื้นที่ 7 วัน เท่ากับกว่าการขยายเวลาการควบคุมการก่อสร้างจะขยายทั้งหมด 148 วัน มีค่าใช้จ่ายวันละ 65,667 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 9,718,716 บาท
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ลงนามก่อหนี้ผูกพันสัญญา ดังนี้
สัญญาเลขที่ 020/2563 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 จ้างกิจการร่วมค้าไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จำนวนเงิน 2,130,000,000.00 บาท (สองพันหนึ่งร้อยสามสิบล้านบาทถ้วน)
สัญญาเลขที่ 026/2564 ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 จ้างกิจการร่วมค้า (Joint Venture) PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จำกัด) ควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จำนวนเงิน 84,560,600.00 บาท (แปดสิบสี่ล้านห้าแสนหกหมื่นหกร้อยบาทถ้วน)
27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.00 น. อาคารแห่งนี้เกิดเหตุเครนก่อสร้างพังถล่ม ส่งผลให้คนงานชาวกัมพูชาเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 2 คน จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเครนก่อสร้างสูง 30 เมตรพบรอยหักงอกลางท่อนที่ความสูงประมาณ 20 เมตร เชือกสลิงขาด ทำให้เครนหักลงมาทับคนงาน กทม.ได้มีการระงับการก่อสร้างไว้ชั่วคราว
ครั้งนั้นนายพรเลิศ เพ็ญพาส ผอ.เขตจตุจักร กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่า ยกอะไร แต่มีการให้ข้อมูลจากคนงานในพื้นที่ว่า เชือกสลิงเกิดขาดขณะยกถังปูนขึ้นเทคาน บริเวณอาคารจอดรถ คาดว่าเครนน่าจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้หักครึ่งท่อนถล่มลงมา ซึ่งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นชาวกัมพูชา เป็นคนงานของอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ขณะที่คนขับเครน เป็นคนของบริษัทจ้างช่วง
ข้อเท็จจริงและที่มาของการก่อสร้างอาคารที่กำลังกลายเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ททุกหน่วยงานต้องเร่งช่วยเหลือผู้ที่ยังติดค้างอยู่ภายใต้ซากอาคารทำงานแข่งกับเวลาเพื่อหาผู้รอดชีวิต พร้อมๆกับการหาสาเหตุของการถล่มในเมื่อโครงสร้างรับน้ำหนักของอาคารก่อสร้างเสร็จหมดแล้ว