thansettakij
“วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” 13 เมษายน วันสำคัญที่ต้องมีช่วงสงกรานต์

“วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” 13 เมษายน วันสำคัญที่ต้องมีช่วงสงกรานต์

13 เม.ย. 2568 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2568 | 06:14 น.

13 เมษายน 2568 วันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันสำคัญสำคัญช่วงสงกรานต์ สำหรับทุกคนในครอบครัว เพื่อให้ญาติพี่น้องได้มีโอกาสมารวมตัวกันโดยตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงวัย

“วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” 13 เมษายน เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ขาดไม่ได้ในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวได้มีโอกาสมารวมตัวกัน ถือเป็นการให้คุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญกับผู้สูงอายุ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ  ตามศักยภาพของตนเอง

สำหรับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็น สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างสมบูรณ์แล้ว มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ตรงกับลักษณะของสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ 

จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรรวม มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8.9 ล้านคน คิดเป็น 14% ของประชากรรวม 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันที่ 13 เมษายน จึงขอให้ลูกหลานให้ความสำคัญ และดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการใช้แนวคิด รู้ ปรับ ขยับเพิ่ม คือ

1.รู้ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกัน คือ รู้สมรรถภาพของตัวเอง เช่น สายตา การทรงตัว การเดิน ด้วยการเข้ารับการประเมินความเสี่ยงที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเป็นประจำทุกปี รู้ปัจจัยรอบตัว เช่น พื้นลื่น ห้องน้ำไม่มีราวจับ สิ่งกีดขวาง รวมถึงการแต่งกายและเลือกสวมรองเท้าที่ปลอดภัยไม่ทำให้สะดุดและลื่นล้มได้ง่ายหากพบความเสี่ยงให้ทำการ “ปรับ” ทันที

2.ปรับ แก้ไข ห่างไกลความเสี่ยง คือ ปรับสภาพบ้านให้น่าอยู่และปลอดภัย เช่น ติดราวจับ ใช้แผ่นกันลื่น เลือกสวมรองเท้าที่ไม่ทำให้สะดุดและลื่นได้ง่าย ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ปรึกษาแพทย์หากใช้ยาหลายชนิด เพราะอาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม ใช้ชีวิตแบบ Active มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยการ “ขยับเพิ่ม”

3. ขยับร่างกาย ออกกำลังกาย ฝึกสมดุล โดย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 15 - 30 นาที หรือ เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ฝึกออกแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก ใช้ยางยืด ฝึกการทรงตัว ยืดเหยียดร่างกาย และหากพบเห็นผู้สูงอายุหกล้ม ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บกรณีเกิดเหตุและพบอวัยวะผิดรูปหรือเจ็บขยับไม่ได้ ให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งเป็นรากฐานสำหรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคตของประเทศไทยคือ ประเด็นด้านสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข ในการสร้างแนวทางการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยที่ต้องการบริการและการดูแลมากขึ้น

เพื่อส่งเสริมภาวะสุขภาพ (Functional status) ในผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลตนเองได้นานที่สุด ลดภาวะพึ่งพิงและศึกษาวิจัยแนวโน้มเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของผู้สูงวัย ที่เปลี่ยนผ่านจากภาวะสุขภาพดีไม่พึ่งพาไปเป็นภาวะสุขภาพที่ต้องพึ่งพา และช่วยส่งเสริมป้องกันรักษา ฟื้นฟู ให้ผู้สูงอายุมีความรู้สามารถดูแลตนเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค / ลด ความเสี่ยงจากกลุ่มอาการ Geriatric syndrome และกลุ่มโรค NCDs ส่งผลให้ลดภาวะพึ่งพิง มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สภากาชาดไทย และกรมควบคุมโรค