‘เงินเยน’แข็งค่ากระทบบริษัทจดทะเบียนส่งออกไปญี่ปุ่น

09 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
กูรูด้านการลงทุนต่างประเทศ มองเงินเยนแข็งค่าส่งผลกระทบบริษัทจดทะเบียนส่งออกไปญี่ปุ่น ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดหุ้นแดนปลาดิบได้รับผลกระทบน้อย ชี้อาจทำให้ความน่าสนใจในหุ้นขนาดใหญ่ลดลง จับตาหากค่าเงินยังแข็งต่อเนื่องนักลงทุนอาจถอนเงินจากตลาดหุ้นหันถือเงินเยนแทน นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เชื่อเป็นปัญหาระยะสั้น

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นั้น มองว่านักลงทุนที่มีการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นในส่วนของกลุ่มหุ้นที่มีความผูกพันกับการส่งออกมากๆ เช่น หุ้นขนาดใหญ่ทั้งหลาย ในมุมส่วนตัวเห็นว่าความน่าสนใจจะลดลง

ขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIF ) บางกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กในญี่ปุ่น อาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินเยนไม่มาก

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมุมมองต่อญี่ปุ่นเวลานี้อาจจะเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นระยะยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยอมรับด้วยว่า ในภาพใหญ่แล้วญี่ปุ่นไม่เหมือนกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนต่างเข้าไปลงทุนด้วยความหวังในการแสวงหาผลตอบแทน “ นายชยนนท์ กล่าวและว่า

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น ในระยะสั้นการแข็งค่าของค่าเงินเยนน่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นดีขึ้น บริษัทจดทะเบียน(บจ.)ที่มีการส่งออกไปญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงน่าจะได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตามหากค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่กู้ยืมเป็นสกุลเงินเยนมาลงทุนในต่างประเทศ (Yen Carry Trade) จะไถ่ถอนการลงทุนในต่างประเทศกลับไปถือเงินเยนแทน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้น แต่คาดว่าจะไม่กระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก

นายชยนนท์ กล่าวต่อไปอีกถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วยว่า ปัจจุบันธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย หรือคิวอี จนขนาดของงบดุลปรับขึ้นมาใหญ่กว่าของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) เรียบร้อยแล้ว แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกที่ผ่านมา กลับเติบโตได้แค่ 0.1%

ส่วนกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ) ออกไป แต่ตลาดก็ยังไม่ตอบรับในเชิงบวกเท่าที่ควร ขณะที่การประกาศอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงต้นปีกลับมีผลสะท้อนในทางลบ ต่อมุมมองของเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าที่จะเป็นปัจจัยบวก ส่วนเหตุการณ์โหวตประชามติของอังกฤษ หรือเบร็กซิท ก็ทำให้เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จากจุดสูงสุดในปีที่ผ่านมา แข็งค่ามาจนถึงตอนนี้กว่า 10% ซึ่งสะท้อนว่าการทำคิวอีไม่ได้ช่วยให้เงินอ่อนค่า

สอดคล้องกับนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งมองว่า บริษัทจดทะเบียนไทยซึ่งมีการส่งออกไปญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากสถานการณ์ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามเดิมทีได้มีการคาดการณ์อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวไม่ถึง 1% ดังนั้นผลกระทบในช่วงนี้จึงมีไม่มาก อีกทั้งญี่ปุ่นเองยังคงใช้คิวอีอยู่ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายแต่อย่างใด โดยปัญหาของญี่ปุ่นถือว่าเป็นปัญหาชั่วคราว ไม่ใช่ปัญหาในระยะยาวกับการที่ค่าเงินเยนแข็งค่า

“ผลกระทบจากญี่ปุ่นคงไม่ได้มีมากเท่าใดนัก เพราะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ การที่เงินเย็นแข็งค่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่เป็นผลมาจากตลาดเกิดความกังวลเงินจึงไหลเข้าสู่เงินเยน หากสถานการณ์ดีขึ้น คนกล้าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นมากขึ้น เงินเยนก็จะอ่อนค่าลง” นายกสมาคมนักวิเคราะห์กล่าวในที่สุด

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559