“กอบกาญจน์” ชู 8 คลัสเตอร์ เข้าแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 ขยายผลการทำงานระยะยาว ใช้เป็นกรอบบูรณาการจัดสรรงบประมาณการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมหนุน อพท.ผนึกกรมท่องเที่ยว ร่วมพัฒนา 41 จังหวัด ทั้งเล็งเพิ่มคลัสเตอร์กรุงเทพฯโฟกัสย่านสวนลุมพินีและหลังสวน ด้านอพท.รอ ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.ฎ.ทั้งจัดโครงสร้างองค์กรรับพื้นที่เพิ่ม และชงประกาศหัวหิน และเชียงแสน เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
[caption id="attachment_74685" align="aligncenter" width="700"]
8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ของไทยปี 2557 - 2560[/caption]
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น ในแง่ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวใน 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) โดยจะจัดทำแอกชัน แพลน สำหรับแผนการพัฒนาในระยะกลางและระยะยาวต่อไป เพื่อให้การพัฒนาในกลุ่มจังหวัดต่างๆใน 8 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว(แผนที่ประกอบ)ของกระทรวงต่างๆรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"การพัฒนา 8 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว เรามุ่งสร้างให้เป็นแผนระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องของแผนพัฒนาท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ ที่จะขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อบูรณาการทำงานของกระทรวงต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จัดสรรการใช้งบประมาณในการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆตามแอกชัน แพลน ที่จะเกิดขึ้น และทำให้มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง"
นอกจากนี้ในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ในขณะนี้ทางคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ(ท.ท.ช.) ยังเห็นชอบให้ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เข้ามาร่วมมือกับกรมการท่องเที่ยว ในการร่วมพัฒนาใน 8 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันด้วย
รวมทั้งตนเองยังมองที่จะผลักดันการเพิ่มคลัสเตอร์กรุงเทพฯ โดยเฉพาะย่านสวนลุมพินีและหลังสวน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีแผนจะส่งเสริมให้เกิดโครงการลงทุนใหม่อีกหลายโครงการต่อเนื่องไปถึงปีพ.ศ.2562 อาทิ เรสิเดนต์, โรงแรม, อาร์ตมิวเซียม, วอล์กกิ้ง สตรีต ,เมดิคัลแอนด์เฮลธ์เซ็นเตอร์ ที่จะเป็นจุดขายใหม่ของกรุงเทพฯในอนาคต
ต่อเรื่องนี้นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่าการที่ อพท.จะเข้าไปบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวใน 8 คลัสเตอร์นั้น จะต้องมีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)จัดตั้งอพท. ให้ครอบคลุมการพัฒนาใน 8 คลัสเตอร์ดังกล่าวด้วย นอกเหนือจากจะดูแลพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นภารกิจหลักในการจัดตั้งอพท.อยู่แล้ว โดยคาดว่าในเร็วๆ นี้น่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบให้มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้
ดังนั้นต่อไปนี้นอกจากอพท.จะดูแลการพัฒนา 6 พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุม 7 จังหวัดแล้ว หากรวมพื้นที่ใน 8 คลัสเตอร์ ก็จะขยายการพัฒนาครอบคลุมเพิ่มอีก 41 จังหวัด แม้อพท.จะมีพื้นที่ในการพัฒนาเพิ่มขึ้นรวม 48 จังหวัด แต่การทำงานก็จะอยู่ภายใต้งบประมาณปี 2560 เท่าเดิม ไม่ได้มีการขอเพิ่มงบประมาณ เพราะการทำงานของอพท.จะเน้นการเข้าไปเพิ่มจำนวนเครือข่ายภาคีในพื้นที่ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวใน 4 นโยบาย คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน,การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์,การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำและการส่งเสริมรายได้ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เพื่อผลักดันให้เกิดกระจายรายได้ การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายการเชื่อมโยงกับปัจจัยการผลิตในพื้นที่
ประกอบกับที่ผ่านมาอพท.ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มานาน ดังนั้นการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการด้านการท่องเที่ยวใน 8 คลัสเตอร์นี้ ก็จะทำให้เรามีกรอบการทำงานที่กว้างขึ้น และสามารถนำชุมชนที่มีศักยภาพมาส่งเสริมเป็นโมเดลต้นแบบได้
นายนาฬิกอติภัค กล่าวว่า อีกทั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ของอพท.ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน อพท.ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) จัดทำการประเมินผลลัพธ์ของพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอพท. ด้านเศรษฐกิจ ด้วยทฤษฏีทวีคุณของรายได้จากการท่องเที่ยว (Multiplier Effect of Tourism)โดยเก็บตัวอย่าง 1,062 ราย ซึ่งมีภาคีเครือข่ายของอพท.150 หน่วยงาน พบว่าสร้างรายได้ทวีคูณสะพัดในท้องถิ่น 2.09เท่า มากกว่าผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งมีผลการประเมินในระดับ 1.38 เท่า
ทั้งนี้ทุกการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผ่านภาคีเครือข่าย 100 บาท จะก่อให้เกิดรายได้ทวีคูณ 209 บาท ซึ่งมาจากความสามารถในการขายปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการของภาคเครือข่ายเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่ายฯในทุกพื้นที่พิเศษ ที่จะอยู่ที่ 138 บาท นอกจากนั้นภาคีเครือข่ายของอพท.ยังมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นกว่า 59% เป็นตัวเลขซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่ายฯที่มีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นเฉลี่ย 40% ดังนั้นการเพิ่มภาคีเครือข่ายของอพท.ที่ต่อไปจะครอบคลุมเพิ่มขึ้น ใน 41 จังหวัดในกลุ่ม 8 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อย่างมั่นคง
ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เผยว่าเผยว่าปัจจุบันโครงสร้างของอพท.ที่ดำเนินการอยู่ ก็สามารถขยายผลการพัฒนาเพิ่มในหลายจังหวัดที่อยู่ในคลัสเตอร์ท่องเที่ยวนี้ได้อาทิ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างของอพท. ก็สามารถดูแล แอกทีฟ บีชคลัสเตอร์ได้ หรือสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย ก็สามารถดูแลการพัฒนาเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่นํ้าโขง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามยังมีในบางพื้นที่ซึ่งยังขาดอยู่ ทางอพท.จะต้องจัดโครงสร้างเพื่อจัดตั้งสำนักงานเพิ่มเติม เพื่อขยายการดูแลการบูรณาการท่องเที่ยวใน 8คลัสเตอร์ในส่วนที่ยังขาดอยู่ คือพื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตกหรือรอยัล โคสต์ คลัสเตอร์ พื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้
นอกจากนี้อพท.ยังจะทำประชาพิจารณ์ เพื่อเตรียมเสนอครม.ประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มเติมอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหิน-ชะอำและพื้นที่เชื่อมโยง และ2. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559