ลุยต่อ‘ธนารักษ์เชียงใหม่’ ยึดที่ทหาร15ไร่หลังคอนโดฯราชการถูกต้านจนล้มโครงการ

12 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2559 | 09:17 น.
กรมธนารักษ์ ลงพื้นที่ ขอคืนที่ทหารทำเลติดค่ายตากสิน-ศูนย์ราชการอำเภอแม่ริม 15 ไร่ ลุยต่อบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เชียงใหม่ หลังล้มประมูลที่แปลงเดิมขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น 9ไร่ กลางใจเมืองเหตุถูกสถานศึกษาต้านหนัก ขณะที่ แผนเปิดให้เอกชนประมูลนิคมอุตฯเขตศก.พิเศษ มุกดาหาร-หนองคาย โยนกฤษฎีกาตีความ ไม่ขัดกม.กนอ.
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่ากรมมีแผนพัฒนาโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องหลังล้มแผนพัฒนาโครงการเดิม 9ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเดิมขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นทำเลใจกลางเมือง

อย่างไรก็ดีได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งเป็นที่ดินของทหารใช้ประโยชน์ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.1723 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 15ไร่เพื่อเปิดให้เอกชนประมูลพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับข้าราชการและคนทั่วไปต่อไป โดยทุกโครงการจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อไปเพื่อไม่ให้ เกิดเหตุซ้ำรอยสถานศึกษาต้อต้านโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับเช่า

ส่วนที่ดินอีกแปลงหมาย เลขทะเบียนที่ชม. 2293 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 3 ไร่เศษ ปัจจุบันกรม ได้ให้ บริษัทเอกชน เช่าพัฒนาโรงแรม ภายใต้ชื่อ "HARMONIZE" ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว นับว่าเป็นการนำที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพเปิดให้เอกชนลงทุนหารายได้ และเชื่อว่าในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีที่ราชพัสดุที่น่าสนใจอีกหลายแปลง

สำหรับความคืบหน้าแผนประมูลที่ดินเขตนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ติดปัญหาไม่มีเอกชนสนใจ คือ จังหวัดมุกดาหาร และ จังหวัดหนองคาย หลังจากที่ผ่านมากรมได้เปิดประมูลที่ดินเขตนิคมอุตสาหกรรม 3 พื้นที่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรก ประกอบด้วยจังหวัดตราด มุกดาหารและ หนองคาย ปรากฏว่า มีจังหวัดตราด พื้นที่เดียว ที่ มีเอกชนสนใจคือ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน ) และได้ที่ดินไป กว่า 800 ไร่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตามรูปแบบที่สภาพัฒน์กำหนดไว้คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่อีก 2 พื้นที่ กำหนดรูปแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมคือ มุกดาหารและ หนองคาย ส่งผลให้ไม่มีเอกชนกล้าตัดสินใจ เกิดจากความกังวลว่า จะไม่สามารถนำที่ดินปล่อยเช่าต่อได้ หากต้องการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพราะจะขัดต่อพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) หน่วยงานที่จะทำได้คือ กนอ.เท่านั้น

ล่าสุด กรมได้หารือกับคณะทำงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้รับคำตอบว่า เอกชนสามารถพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและปล่อยเช่าได้ไม่ขัดต่อพ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2522 ของกนอ. เนื่องจากอยู่ในแผนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์ และเป็นนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนภาคเอกชนให้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนดังกล่าว ส่งผลให้ ไม่จำเป็นต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ใช้มาตรา 44 โดยอาศัยอำนาจ ตามร่างพ.ร.บ.รัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2557 บังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดีเมื่อมีความชัดเจนทางข้อกฎหมายกรมก็จะเปิดประมูลหาเอกชนพัฒนา 2 พื้นที่ดังกล่าวต่อไปอีก รอบ ขณะเดียวกัน ได้ขยายระยะเวลายื่นซองประมูล ออกไปเป็น 90วันจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 60วัน ซึ่งเอกชนอ้างว่า 60 วัน สั้นเกินไป คาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนขายซองประกวดราคาได้เร็วๆนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559