แฉกลโกง40ขายตรงตุ๋นผู้บริโภคหมื่นล.

14 ก.ย. 2559 | 10:00 น.
แฉบริษัทกว่า 40 แห่ง อาศัยช่องทางขายตรงหลวกลวงผู้บริโภคสูญเงิน 1 หมื่นล้าน งัดสารพัดกลโกง ทั้งสวมสิทธิ์ อึ่งซื้อขายใบอนุญาตฯใบละ 5-10 ล้าน ชวนเชื่อจ่ายผลประโยชน์สูงเกินจริง ด้านสคบ.โชว์เชือดแล้ว 1 ราย ปรับ 3 แสนบาทไม่ทำตลาดตามแผนธุรกิจที่ยื่นขอ ระบุตรวจพบ 70 บริษัทยื่นเปลี่ยนชื่อ ชี้วันี้ยังไม่มีบทลงโทษผู้ขายใบอนุญาต รอกฎหมายใหม่บังคับใช้

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันการหลอกลวงผู้บริโภคผ่านธุรกิจขายตรงยังมีให้เห็นทุกวัน ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายบางรายที่ต้องการได้รับเงินคืนก็มักจะไปหลอกลวงผู้บริโภคต่อ ทำให้มีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มทวีคูณ โดยที่ผ่านมามีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับทางสมาพันธ์ฯ กว่า 20 ราย ที่ขณะนี้สมาพันธ์ฯ มีข้อมูลของบริษัทที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายหลอกลวงแล้วกว่า 10 บริษัท ซึ่งพร้อมให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการนำไปดำเนินการต่อได้ทันที

สำหรับรูปแบบบริษัทขายตรง ที่มีพฤติการณ์หลอกลวงแต่ยังไม่ได้เป็นคดี ปัจจุบันมีด้วยกันมากกว่า 40 บริษัท ได้แก่ 1. ใช้รูปแบบธุรกิจขายตรงแต่ไม่ได้ขออนุญาตดำเนินธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เช่น ธุรกิจเติมเงินมือถือ ธุรกิจทัวร์ท่องเที่ยว สมาคมฌาปณกิจสงเคราะห์ เป็นต้น 2. การซื้อใบอนุญาตจากบริษัทที่ได้จดทะเบียนกับสคบ. และ3. มีใบอนุญาตจากสคบ. แต่เปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่ยื่นขออนุญาตไว้ โดยเฉพาะการจ่ายผลประโยชน์ที่มากเกินความเป็นจริง ที่เรียกว่า Over Pay เพื่อให้คนสนใจทำธุรกิจซึ่งในที่สุดบริษัทจ่ายผลตอบแทนไม่ได้ก็จะทำการปิดกิจการหนี และ 4. เปลี่ยนสินค้าที่เคยขออนุญาตกับทางสคบ.ไว้ เพื่อใช้หลอกลวงผู้บริโภค

"ปัจจุบันมูลค่าความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาทที่กลึ่มบริษัทเหล่านี้ใช้รูปแบบขายตรงมาหลอกลวง โดยมีจำนวนผู้เสียหาทั้งระบบกว่า 1 แสนราย รูปแบบการหลอกลวงก็มีหลากหลายวิธี อย่างกรณีการสวมใบอนุญาตหรือการซื้อขายใบอนุญาตสคบ. ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ เพราะมีความน่าเชื่อถือหรือบางครั้งบริษัทอยู่ระหว่างการรอพิจารณาคดี ก็มาตั้งบริษัทใหม่หลอกต่อ ส่วนใบอนุญาตของสคบ.ที่ซื้อขายกันมีราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท เพราะปัจจุบันมีกว่า 500 บริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจ จากจำนวนที่จดทะเบียนกว่า 1,000 บริษัท"

นายสามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทขายตรงที่หลอกลวงผู้บริโภคในลักษณะแชร์ลูกโซ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีนั้น ได้แก่ 1. บริษัท ยูฟันสโตร์ จำกัด ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท 2. บริษัท ดิจิตอล คราวน์ โอลดิ้ง จำกัด หรือ (DCHL) ที่มีผู้เสียหายกว่า 2 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท และ 3. บริษัท ไนน์ ท๊อปอัพ จำกัด (9Topup) มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

 70บริษัทยื่นเปลี่ยนชื่อ

ต่อเรื่องนี้ ร.ต.ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า มีบริษัทขายตรงที่ยื่นขอเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารงาน ประมาณ 70 บริษัท จากปัจจุบันมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ที่มีจดทะเบียนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทั้งสิ้น 1,189 บริษัท ซึ่งทางสคบ.ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการซื้อขายใบอนุญาตที่ได้รับจากสคบ. จริงหรือไม่ และพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบ พ.ศ. 2545 ไม่ได้กำหนดบทลงโทษกรณีการซื้อขายใบอนุญาตไว้ เพราะแม้ว่าจะมีการซื้อขายใบอนุญาต แต่ไม่ได้มีการทำความผิดหรือไม่ได้ทำการหลอกลวงผู้บริโภค สคบ.ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

 เชือดแล้ว1รายปรับ3แสนบาท

ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามแผนที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้กับสคบ. นั้น ที่ผ่านมาพบการกระทำความผิดเพียง 1 รายเท่านั้น และได้ถูกปรับไปแล้วเป็นเงิน 3 แสนบาท ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการถูกต้องตามแผนที่ได้ยื่นกับสคบ.แล้ว สำหรับบทลงโทษกรณีไม่ดำเนินธุรกิจตามที่ได้ยื่นขออนุญาตไว้กับทางสคบ. จะถูกปรับในครั้งแรกเป็นเงิน 1 แสนบาท และเสียค่าปรับรายวันไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะดำเนินถูกต้องหรือยุติการทำความผิด ซึ่งแนวทาง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อขายใบอนุญาต รวมถึงการไม่ดำเนินงานตามแผนการตลาดที่ได้ขออนุญาตไว้กับทางสคบ.นั้น ขณะนี้ได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่

"ปัจจุบันการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจขายตรงกับสคบ. ดำเนินการได้รวดเร็ว หากเอกสารครบถ้วนและถูกต้องก็ออกใบอนุญาตได้ไม่เกิน 68 วัน ซึ่งทางปฎิบัติปัจจุบันทางสคบ. ดำเนินการได้เร็วสามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 30 วัน จึงเห็นว่าผู้ประกอบการไม่จำเป็นจะต้องเสียเงินเพื่อซื้อใบอนุญาตจากบริษัทอื่น ส่วนในช่วงที่ผ่านมาสคบได้เพิกถอนใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจของบริษัทขายตรงและตลาดแบบตรงไปแล้ว 155 บริษัท ซึ่งสาเหตุมีทั้งการยุติดำเนินการเอง การประสบภาวะขาดทุนจึงเลิกกิจการไป การไมยื่นรายงานผลการดำเนินงานกับกระทรวงพาณิชย์ และ การเปลี่ยนแปลงที่อยู่หรือย้ายที่อยู่ซึ่งสคบ.ไม่สามารถตรวจสอบพบ"

 ร่างกม.ใหม่ห้ามซื้อขายใบอนุญาต

ด้านนายพัสกร ทัพมงคล ผู้อำนวยการส่วนกฎหมาย กองกฎหมายและคดี สคบ. กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ..... อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ได้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการเสนอแก้ไขประเด็นการห้ามซื้อขายใบอนุญาตที่ได้รับอนุมัติจากสคบ. เพราะต้องการป้องกันปัญหาการนำใบอนุญาตไปใช้หลอกลวงประชาชนและผู้บริโภค สำหรับบทลงโทษของกฎหมายใหม่ระบุโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีอัตราปรับอีกวันละไม่เกิน 5,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน จากกฎหมายเดิมไม่ได้ระบุโทษไว้

 เอกชนเสนอจำคุก10ปีขึ้นไป

ดร.สมชาย หัชลีฬหา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และในฐานะนายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) กล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายใบอนุญาตดำเนินธุรกิจขายตรงของสคบ. มีอยู่จริง เพราะการจะทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ทางสคบ.ไม่จดทะเบียนให้อยู่แล้ว วิธีการที่ทำได้ คือ การซื้อใบอนุญาตจากบริษัทที่ได้รับและไม่ดำเนินธุรกิจแล้ว และทำการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนแผน หรือเปลี่ยนสินค้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือ ว่าเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าใบอนุญาตดังกล่าวซื้อขายราคาเท่าไร

"ถ้าสคบ.รายงานข้อมูลว่ามีประมาณ 70 บริษัทที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร หรือเปลี่ยนแปลงชื่อ หากเป็นกลุ่มแชร์ลูกโซ่ประมาณ 20% ก็ถือว่าน่ากลัวแล้ว แต่จะระบุว่าทั้ง 70 บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวจะเป็นการทำแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ต้องเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียด ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่นั้น เห็นว่าจะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น ทั้งบริษัทที่ประกอบธุรกิจ รวมถึงนักธุรกิจที่ทำธุรกิจขายตรงด้วย"

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าบริษัทขายตรงควรได้รับการตรวจสอบคุณภาพการดำเนินธุรกิจ ในเรื่องของการประกอบธุรกิจว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ สินค้าที่จำหน่ายขึ้นทะเบียนหรือไม่ แผนธุรกิจตรงตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนหรือไม่ และที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือคณะกรรมการหรือไม่ นอกเหนือจากการมีใบอนุญาตอยู่แล้ว เพื่อให้บริษัทที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้เป็นที่ยอมรับ และได้รับการรับรองว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินการถูกต้อง

ขณะที่นายเศรษฐพงศ์ เหมินทคุณ รองกรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจเครือข่าย "ศรีไทย เน็ทเวิร์ค" บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาการหลอกลวงประชาชนมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ และตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถือว่ามีการหลอกลวงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลายวิธีมากขึ้นด้วย โดยข้อสังเกตสำคัญคือ การให้ผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ถือเป็นมันนี่เกมชนิดหนึ่ง ขณะที่การควบคุมของหน่วยงานภาครัฐนั้นถือว่าดำเนินการได้ยาก แนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น เห็นว่าจะต้องเพิ่มบทลงโทษเพิ่มมากขึ้น เช่น การจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559