เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

22 เม.ย. 2562 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2562 | 11:39 น.

ความเป็นพระมหากษัตริย์จะสมบูรณ์ถูกต้องตามพระราชประเพณี ก็ต่อเมื่อได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว และการเสด็จขึ้นอยู่พระราชมนเทียรก็ต้องประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรเสียก่อนฉะนั้นการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร จึงทำต่อเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามความหมายเดิม ถือเป็นสำคัญอยู่ที่การทรงรับน้ำอภิเษก ซึ่งเป็นน้ำที่ได้พลีกรรมตักมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในราชอาณาจักรไทยทั้ง ๑๐๘ แหล่งและแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก ๙ แหล่ง ซึ่งพิธีถวายน้ำอภิเษกนี้มีความหมายว่า เพื่ออัญเชิญให้สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงแผ่พระราชอาณาจักร ปกครองประชาชนทั้งหลายทั่วไป

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

จากสมัยโบราณจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่มีบันทึกไว้ว่าภายหลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา พระราชครูวามเทพมุนีจะร่ายเวทสรรเสริญศิวาลัยไกรลาศจบแล้ว กราบบังคมทูลถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นภาษามคธแล้วทูลเกล้าฯถวายพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย โดยสมัยรัชกาลที่ ๙ จารึกว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” 

จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าฯถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยาราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธ

ครานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับ ทรงสวมและทรงวางไว้บนโต๊ะ ๒ ข้างพระที่นั่งภัทรบิฐ และพระราชทานให้มหาดเล็กเชิญไว้ตามลำดับ โดยลำดับที่มีการบันทึกไว้คือ พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลพระนพ พระมหาพิชัยมงกุฎ  พระแสงขรรค์ชัยศรี  ธารพระกรชัยพฤกษ์  พระแส้จามรี  พัดวาฬวิชนี พระแส้หางช้างเผือก พระธำมรงค์รัตนวราวุธ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา ฉลองพระบาทเชิงงอน  พระแสงฝักทองเกลี้ยง ธารพระกรเทวรูป พานพระขันหมาก พระสุพรรณศรีบัวแฉก พระมณฑปรัตนกรัณฑ์  พระเต้าทักษิโณทก พระแสงจักร พระแสงตรีศูล พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสงดาบเชลย พระแสงธนู พระแสงดาลโล่ห์  พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง  และพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย

 

ความหมายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ที่ผ่านมาไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์มีมาตั้งแต่สมัยใด นำมาใช้ในราชสำนักเมื่อใด และใครเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งเหล่านี้ควรแก่พระมหากษัตริย์ แต่ถึงกระนั้นคุณค่าของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็มีความสำคัญมากสร้างภาพลักษณ์และการจัดพระราชพิธีต่างๆให้โอ่อ่าสง่างามยิ่ง ราษฎรเกิดความประทับใจและเคารพยำเกรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ตำราปัญจราชาภิเษก กล่าวถึงเครื่องสำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ พระภูษาผ้ารัตกัมพล พระขรรค์พระเศวตฉัตร และเกือกทอง ซึ่งมีความหมายคือ พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ เครื่องประดับผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช พระขรรค์หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อย ความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เศวตฉัตร ๖ ชั้น หมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น และเกือกทอง หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา เดิมเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภค ได้จัดพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี โดยเลือกทำในเดือน ๖  เพราะมีพระราชพิธีน้อย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า วันพระบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนปัจจุบัน 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

ส่วนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระมหาราชครูถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบด้วยพระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรีธารพระกร วาลวิชนีและฉลองพระบาทเชิงงอน

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

พระมหาเศวตฉัตรหรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร

ฉัตรเชื่อว่าเป็นเครื่องยศเก่าแก่ที่สุด ฉัตรมีหลายชั้น พระมหาอุปราชใช้ “เบญจปฎลมหาเศวตฉัตร” (ฉัตร ๕ ชั้น) พระมหากษัตริย์ก่อนรับราชาภิเษกใช้ “สัปตปฎลมหาเศวตฉัตร” (ฉัตร ๗ ชั้น) เมื่อราชาภิเษกแล้วจึงใช้ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” (ฉัตร ๙ ชั้น)  ในอาณาจักรตะวันออกฉัตรมีความสำคัญมากเพราะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและศาสนา มีต้นกำเนิดจากต้นไม้ใหญ่ รูปทรงจึงคล้ายกับต้นไทรและต้นโพธิ์ (ที่มาหนังสือพระราชพิธีแห่งกรุงสยามฯ) 

ปัจจุบันเป็นฉัตร ๙ ชั้น หุ้มผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทองแผ่นลวด มียอดพระมหาเศวตฉัตรนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้หุ้มด้วยผ้าขาวแทนผ้าตาด ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่นๆและในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นถวาย ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์หลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

พระมหาพิชัยมงกุฎ

  มงกุฎของสยามมีทรงแหลม ทำเป็นชั้นประดับประดาอย่างงดงาม ลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนใคร มียอดแหลมสูง ส่วนของชาติอื่นทำเป็นกระบังหน้าหรือสวมรอบศีรษะ ว่ากันว่าในอดีตชาวสยามยุคขอมเรืองอำนาจไว้ผมยาว เกล้ามวยสูงเหนือศีรษะ ๓ - ๔ ส่วนและรัดมาลัยดอกไม้ ๕ ชั้น จึงจำเป็นต้องทำเป็นหมวกทรงสูง สำหรับพระมหาพิชัยมงกุฎ รวมพระจอนจึงสูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ซื้อเพชรเม็ดใหญ่ จากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย พระราชทานนามว่า “พระมหาวิเชียรมณี” แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎแทนยอดพุ่มข้าวบิณฑ์

ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญทูตานุทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธีและทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

พระแสงขรรค์ชัยศรี

  เป็นพระแสงที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ให้ข้าราชการจากเมืองพระตะบองนำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับมณีใช้เป็น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ พระแสงขรรค์ชัยศรีนี้เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว ๖๔.๕ เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว ๘๙.๘ เซนติเมตร หนัก ๑.๓ กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ เซนติเมตร หนัก ๑.๙ กิโลกรัม

ทั้งนี้จากหนังสือพระราชพิธีแห่งกรุงสยามสันนิษฐานว่า การให้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถือพระขรรค์ เป็นเรื่องปกติของพิธีพระราชาภิเษก เพราะแสดงให้เห็นว่า ทรงไม่ใช่ผู้ปกครองเพียงในนาม แต่ยังทรงเป็นหัวหน้านักรบด้วย

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

ธารพระกร

ของเดิมสร้างขึ้นมาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดส้นเป็นซ่อมสามง่าม
เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ  ภายในมีพระแสงเสน่า ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกรจึงทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำธารพระกรชัยพฤกษ์ออกใช้อีก ยกเลิกธารพระกรเทวรูป เพราะทรงพอพระราชหฤทัยในของเก่าๆจึงคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อมา

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

วาลวิชนี (พัดและแส้)

  สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะเป็นพัดใบตาล ที่ใบตาลปิดทองทั้ง ๒ ด้าน ขอบขลิบทองคำด้ามทำด้วยทองลงยา เรียกว่า
พัชนีฝักมะขาม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” ไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรีเพราะ วาลแปลว่า ขนโค ชนิดหนึ่งตรงกับที่ไทยเรียกจามรี  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแส้ขนจามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือก เรียกว่า พระแส้หางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้พัดตาลและพระแส้จามรีควบคู่กัน โดยเรียกว่า “วาลวิชนี” 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

ฉลองพระบาทเชิงงอน

  เดิมทีสามัญชนชาวสยามจะไม่ใส่รองเท้า หรือหากใส่ก็จะถอดก่อนเข้าพระบรมมหาราชวังเพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ รองเท้าสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งในสยามและเขมร  ถือว่าเป็นของสูงและหายาก  จึงถือได้ว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประธานพระครูพราหมณ์เป็นผู้สวมถวาย

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน หรือ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ใช้เป็นดวงตราประทับกำกับ พระปรมาภิไธย และเอกสารราชการแผ่นดิน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ที่ออกในพระปรมาภิไธย เป็นต้น พระราชลัญจกรประจำแผ่นดินจะเชิญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่นๆ (พระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์)

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน เริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ด้วยทองคำขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพิ่มจากองค์เดิมซึ่งสร้างด้วยงาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งมีสภาพชำรุดเนื่องจากใช้มานานกว่า ๔๕ ปี 

 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

พระสุพรรณบัฏ

หมายถึง แผ่นทองคำจารึกพระปรมาภิไธย ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนา ๐.๑ เซนติเมตร ขนาดความกว้างและความยาวขึ้นอยู่กับอักษรหรือข้อความที่จะจารึก

 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 

หน้า 21-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,463 วันที่  21 - 24 เมษายน พ.ศ. 2562