thansettakij
กรมโยธาฯ MOU วชิรพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนเลือดเรื้อรัง

กรมโยธาฯ MOU วชิรพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนเลือดเรื้อรัง

23 ม.ค. 2568 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2568 | 09:08 น.

ช่วยชีวิตผู้ป่วย กรมโยธาธิการและผังเมือง MOU คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ส่งเสริมให้บุคลากรเข้าร่วมบริจาคโลหิต แก้ไขปัญหาการขาดแคลนเลือดเรื้อรังในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤตขาดแคลนเลือดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องการเลือดในการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง

สาเหตุหลักของปัญหาการขาดแคลนเลือด ได้แก่ 1.จำนวนผู้บริจาคเลือดไม่เพียงพอ แม้จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคเลือดอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนผู้บริจาคเลือดก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย เนื่องจากผู้บริจาคเลือดแต่ละคนสามารถบริจาคเลือดได้เพียง 3 เดือนครั้ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักราวุธ มณีฤทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักราวุธ มณีฤทธิ์

และบางครั้งผู้บริจาคเลือดรายเดิมก็อาจไม่สามารถบริจาคเลือดได้อีก เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคประจำตัว หรือภาวะโลหิตจาง 2.ปัจจุบันการรักษาโรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยหลายรายต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เลือดในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแตก ซึ่งต้องสูญเสียเลือดจำนวนมากในการรักษา

3.เลือดมีอายุการใช้งานจำกัด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาเลือดขาดแคลน เลือดแต่ละชนิดมีอายุการใช้งานแตกต่างกัน เฉลี่ยแล้วเลือดสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น เมื่อเลยระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว เลือดจะเสื่อมสภาพและไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้อีกต่อไป ทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอในการมีปริมาณเลือดสำรองเพียงพอ

และ 4.ปริมาณเลือดบริจาคไม่สม่ำเสมอ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาเลือดขาดแคลน ในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ หรือสงกรานต์ ผู้คนมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้จำนวนผู้บริจาคเลือดลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ ก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ความต้องการใช้เลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

กรมโยธาฯ MOU วชิรพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนเลือดเรื้อรัง

ผลกระทบจากการขาดแคลนเลือด ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง ผู้ป่วยที่ต้องการเลือดในการรักษาอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเลือด เช่น การผ่าตัดล่าช้า หรือต้องรอเลือดเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อโอกาสในการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วย ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จึงร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการบริจาคโลหิต

นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ มีการจัดให้บุคลากรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดให้มีกิจกรรมรับบริจาคโลหิตร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

จึงทำให้ทราบว่าปัจจุบันการรับบริจาคโลหิตจากประชาชนไม่เพียงพอต่อความต้องการในการให้บริการผู้ป่วย บ่อยครั้งที่ธนาคารเลือดไม่สามารถจัดหาโลหิตมาสำรองไว้ได้อย่างพอเพียง ทำให้ต้องจัดหาโลหิตแก่ผู้ป่วยที่ต้องการโดยเร่งด่วน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและอนามัยของผู้ป่วย

ซึ่งการบริจาคโลหิตเป็นเสมือนการต่อชีวิตให้แก่เพื่อนมนุษย์ โดยการบริจาคโลหิตเพียง 1 ครั้ง สามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อยถึง 3 ชีวิต ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง มีบุคลากรอยู่เป็นจำนวนมากที่มีจิตอาสาในการบริจาคโลหิต

จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในด้านการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ต่อทั้งสองหน่วยงานและผู้ป่วยที่ต้องการโลหิต

กรมโยธาฯ MOU วชิรพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนเลือดเรื้อรัง

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนยันว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กับ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีเจตจำนงร่วมมือกันในการส่งเสริม สนับสนุนเกี่ยวกับการให้บริการทางวิชาการ ด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแก่บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการลูกจ้าง (เหมาบริการ) และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการให้ความร่วมมือระหว่างองค์กร โดยกรมฯ จะจัดเตรียมสถานที่สำหรับรับบริจาคโลหิต เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ที่จะจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อรับบริจาคโลหิต ตามวันเวลาที่กำหนดและประชาสัมพันธ์วัน เวลา สถานที่ที่จัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต แก่บุคลากรกรมโยธาธิการและผังเมือง

โดยมุ่งหวังให้มีผู้เข้าร่วมบริจาคจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างแหล่งโลหิตสำรองให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย กรณีที่หากมีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากเกิดการขาดแคลนโลหิตในการให้บริการผู้ป่วย ให้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอความร่วมมือรับบริจาคโลหิตเป็นกรณีพิเศษเป็นครั้ง ๆ ไป

กรมโยธาฯ MOU วชิรพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนเลือดเรื้อรัง

โดยกรมฯ จะสนับสนุน สถานที่ฝึกปฏิบัติของบุคลากร นักศึกษา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อเพิ่มพูน ทักษะ ความรู้ความสามารถในการให้บริการหรือผลิตบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลต่อไป

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า เหตุผลที่ทั้งสองหน่วยงานมาร่วมมือกันนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเพราะความใกล้เคียงกันเท่านั้น

แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ จำนวนบุคลากรของกรมฯที่ค่อนข้างมาก การจัดกิจกรรมบริจาคเลือดนั้นจำเป็นต้องมีผู้บริจาคในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้คุ้มค่าต่อการจัดเตรียมอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์

โดยทั่วไปแล้ว จำนวนผู้บริจาคที่เหมาะสมต่อครั้งควรอยู่ที่ประมาณ 80-100 คน หากจำนวนผู้บริจาคน้อยเกินไป ก็จะไม่คุ้มค่าต่อการจัดกิจกรรม เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก ดังนั้นการที่มีหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีความตั้งใจในการบริจาคเลือดอย่างกรมโยธาฯ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการจัดกิจกรรมร่วมกัน และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ต้องการเลือดอย่างมาก

กรมโยธาฯ MOU วชิรพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนเลือดเรื้อรัง

นอกจากการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการรับบริจาคโลหิต ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง แล้ว ทางคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จะให้บริการทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การให้บริการด้านสุขภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการบริการด้านการสาธารณสุข และเป็นเครือข่ายด้านการแพทย์ให้แก่กรมโยธาธิการและผังเมือง

เพื่อให้การดำเนินการบริการทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการตรวจรักษาโรคที่สลับซับซ้อน หรือต้องการความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ต้องอาศัยเครื่องมือตรวจพิเศษ รวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน รักษา บำบัดและฟื้นฟูการเจ็บป่วยของบุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมืองตามสิทธิการรักษา

ทั้งนี้ โรงพยาบาลวชิรพยาบาลอาจจะพิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคมให้แก่บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมืองตามความเหมาะสมด้วย