thansettakij
เปิดสถิติค่าฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 ไทยครองอันดับ 3 อาเซียน

เปิดสถิติค่าฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 ไทยครองอันดับ 3 อาเซียน

26 ก.พ. 2568 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2568 | 07:06 น.

สศช. เผยข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 พบไทยอยู่อันดับ 3 ในอาเซียน ด้วยค่าเฉลี่ย 24 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สูงเกินมาตรฐาน WHO 4.8 เท่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น 10.1% พร้อมคำแนะนำวิธีป้องกันตนเอง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากรายงานคุณภาพอากาศโลกของ IQAir พบว่า ประเทศไทยมีค่ามลพิษทางอากาศอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 141 ประเทศทั่วโลก แย่ลงจากปี 2566 ที่อยู่อันดับ 36

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 3 ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีค่าเฉลี่ย 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยค่าดังกล่าวสูงเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 4.8 เท่า

ข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศอาเซียนปี 2567 

  • ลาว 31 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • พม่า 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • ไทย 24 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • เวียดนาม 20 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • อินโดนีเซีย 18 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • กัมพูชา 13 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • มาเลเซีย 13 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • ฟิลิปปินส์ 12 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

  • สิงคโปร์ 12 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศอาเซียนปี 2567  ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศอาเซียนปี 2567 

งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 2567 พบว่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สารหนู แคดเมียม และโครเมียมในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอด

จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2567 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 12.3 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 10.1 โดยภาคเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ในปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว 9.8 แสนราย ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งและตลอดเวลาที่ออกนอกอาคาร

สำหรับคำแนะนำประชาชนในการดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกจากบ้านจากแอปพลิเคชัน Air4thai หรือช่องทางข่าวสารต่าง ๆ

2. ปฏิบัติตามมาตรการ "หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด" ได้แก่ (1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง (2) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ทำความสะอาดบ้านทุกวัน (3) ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่ได้มาตรฐาน (4) เลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และ (5) ลดการใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด