วิธีดูแลผู้ป่วย "มะเร็ง" ทำอย่างไรให้แข็งแรง แม้ยามีผลข้างเคียง

27 มี.ค. 2568 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 09:44 น.

แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง กรณีหวังผลหายขาด-ประคับประคองชีวิต พร้อมระวัง ใช้ยาสมุนไพรอาจทำตับและไตวาย

พญ. ศิริโสภา เตชะวัฒนวรรณา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีบำบัด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรงมะเร็ง สิ่งที่ผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยควรรู้คือ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ เพราะจะเป็นแนวทางการรักษาที่สามารถบ่งบอกได้ 2 กรณี คือ

  1. ดูแลรักษาเพื่อหวังผลหายขาด
  2. ดูแลรักษาเพื่อประคับประคองชีวิต

"ในกรณีที่โรคมะเร็งอยู่ในระยะกระจายตัวลุกลามไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีและยืดอายุขัย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มะเร็งบางชนิดแม้อยู่ในระยะที่ 4 ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะระบุได้เป็นรายบุคคล และเป็นเคสที่แตกต่างกัน เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยอาศัยความชำนาญของแพทย์หลากหลายคนประกอบกัน"

วิธีการรักษาโรคมะเร็ง

พญ. ศิริโสภา กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์หลายคน ต้องอาศัยแพทย์ผ่าตัด แพทย์รังสีรักษา แพทย์ผู้ที่ให้ยาเคมีบำบัด และการให้ยาค่อนข้างมีความจำเพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด และยามุ่งเป้า แพทย์ต้องตรวจหาตัวรับจากผู้ป่วยแต่ละรายว่ามีความเหมาะสมกับการรักษาแบบไหน และต้องขึ้นอยู่กับระยะของโรคด้วย 

วิธีดูแลผู้ป่วย \"มะเร็ง\" ทำอย่างไรให้แข็งแรง แม้ยามีผลข้างเคียง

ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ต้องได้รับ "ยาต้านฮอร์โมน" เพราะโรคจะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิง นอกจากนี้ยังต้องดูอายุของผู้ป่วยประกอบกันว่าเป็นวัยที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือนแล้ว

"ยาเคมีบำบัด" จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีความเหมาะสมกับยาต้านฮอร์โมน ส่วนใหญ่จะให้ยาในระยะเวลาเฉลี่ย 6 เดือนขึ้นไป หรืออาจใช้ระยะเวลาน้อยกว่านั้นในกรณีที่อยู่ในระยะแรกของการเกิดโรค ซึ่งหลักการของยาเคมีบำบัดคือการเข้าไปทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว มักมีผลข้างเคียงต่อตัวผู้ป่วย เช่น ยาไปกดการทำงานของไขกระดูก เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้ผมร่วง แต่ผมผู้ป่วยสามารถกลับมางอกใหม่ได้เป็นปกติ 

สำหรับการใช้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่มีไตและตับที่ดี ดังนั้นก่อนเริ่มทำการรักษาแพทย์จะตรวจค่อนข้างละเอียด เพื่อปรับลดยาหรือหลีกเลี่ยงการให้ยา

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

  • ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย ต้องรู้ว่ายาที่แพทย์ทำการรักษาคือยาอะไร มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน
  • กินร้อน ช้อน กลาง กินอาหารปรุงสุก และสะอาด
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
  • ออกกำลังกายตามความเหมาะสม
  • ลดความเครียดให้ได้มากที่สุด

ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่การรักษาโรค จะรู้สึกถึงรสชาติอาหารได้น้อยลง ดังนั้นประเด็นที่สำคัญคือการกินที่ไม่จำเพาะเจาะจงถึงรสชาติ แต่กินอะไรก็ได้ที่สุกและสะอาด เพื่อทำให้ร่างการแข็งแรง และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะทำให้การเต้นของหัวใจและระบบไหลเวียดเลือดเป็นปกติ 

ระวัง การใช้ยาสมุนไพรรักษามะเร็ง

พญ. ศิริโสภา กล่าวว่า จากประสบการณ์โดยส่วนตัว ยาสมุนไพรที่ดีหรือสามารถบรรเทาตลอดจนรักษามะเร็งได้ยังไม่มีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่กลับเห็นผลข้างเคียงมากกว่า เช่น ทำให้ผู้ป่วยตับวาย ไตวาย เพราะยาสมุนไรที่ผู้ป่วยกินไม่มีทางรู้เลยว่า ไปออกฤทธิ์ตระตุ้นหรือยับยั้งยาที่แพทย์ทำการรักษาอยู่หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่ป่วยมะเร็งควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์และตรวจเพื่อความชัดเจน และควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ