8 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์จักราวุธ เผือกคง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย เปิดเผยว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยอาการ Long COVID ปัจจุบันจำนวนกว่า 14,000,000 คนซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 20% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ หรือ 880,000 คน เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ซึ่งทางการแพทย์แผนไทย เรียกว่า เป็นอาการลมปลายไข้
หายป่วยแต่ยังรู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อย วิตกกังวล ซึมเศร้า สมาธิสั้น ระบบร่างกายแปรปรวน ท้องเสีย ท้องอืด ตำรับแพทย์แผนไทยเรียกว่าระบบร่างกายเสียสมดุล เป็นกลุ่มแรกที่คาดหวังจะรักษา อีกกลุ่มเป็นประชาชนทั่วไป ถ้ามีอาหารเจ็บคอปวดเมื่อยพบหมอให้รักษาอาการหรือกลุ่มเสี่ยง อาจจะเคยสัมผัสผู้ป่วยโควิดเป็นกังวล
ด้านวิธีการรักษาตรวจคัดกรองเหมือนในคลินิกหรือโรงพยาบาลทั่วไป จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย สั่งจ่ายยาโดยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีใบประกอบวิชาชีพใบประกอบโรคศิลปะ ทุกคน คุณหมอจะสอบถามประวัติ จ่ายยา พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ
ด้านนางสาวบุษราภรณ์ ธนสีลังกูร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการเวชกรรม สถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ตำรับยาไทยที่รักษาอาการ Long COVID ซึ่งแบ่งออกตามกลุ่มอาการ ประกอบด้วย
กลุ่มยารักษาลมปลายไข้ ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมปลายไข้ ยาตรีเกสรมาศ สรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย
กลุ่มยาปรับธาตุ ได้แก่ ยาธาตุบรรจบ สรรพคุณ บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ยามันทธาตุ สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ ยาตรีเกสรมาศ สรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย ยาตรีผลา สรรพคุณ เป็นยาอายุวัฒนะ ปรับสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย
กลุ่มยารักษาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้ไอ เช่น ยาตรีผลา ยาประสะมะแว้ง ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาอำมฤควาที บรรเทาอาการหวัด หอบเหนื่อย แพ้อากาศ ยาปราบชมพูทวีป แก้ไข้ ยาประสะจันทน์แดง ยาจันทน์ลีลา ยาเขียวหอม แก้ปวดเมื่อย เถาวัลย์เปรียง ขี้ผึ้งไพล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แก้ลมปะกัง ศุขไสยาศน์ น้ำมันกัญชา แก้ลมในเส้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มือเท้าชา อ่อนแรง ยาแก้ลมแก้เส้น เป็นต้น
หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการเวชกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวยาทั้งหมดที่นำมาใช้กับผู้ป่วยได้รับการรับรอง ผ่านมาตรฐานการใช้ยาที่มีองค์ความรู้ดั้งเดิมและการันตีความปลอดภัย ในส่วนนี้จะบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับสภาการแพทย์แผนไทย เพื่อดูแลการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั่วประเทศ
ยึดรูปแบบนี้ในการดูแลผู้ป่วยอาการ Long COVID เน้นเรื่องปรับสมดุลธาตุลมปลายไข้เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะบ่งชี้ของแต่ละคนและอาการรวมถึงลักษณะ ธาตุเจ้าเรือนของผู้ป่วย ที่เรียก กำเริบ หย่อน พิการ ดูอาการของตรีธาตุ เสมหะ ปิตตะ วาตะ ในการรักษากลุ่มอาการปวดให้ยาประมาณ5 - 7 วัน อาการไข้ จ่ายไม่เกิน 3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
"หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการ Long COVID เข้ากระบวนการติดตามประเมินผล 2 อาทิตย์ หลังจากทานยา 1 อาทิตย์ ส่วนใหญ่ 90% อาการดีขึ้นและหายในที่สุด เนื่อง Long COVID เป็นอาการบ่งชี้ไม่รุนแรง แต่หากไม่รับการรักษาส่งผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวันทางการแพทย์แผนไทยเรียกร่างกายเสียสมดุล
สำหรับในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 19 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีบริการคลินิกแพทย์แผนไทยเคลื่อนที่มาให้คำปรึกษา รักษาผู้ป่วยที่อาการ Long COVID และประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับบริการฟรีตลอดระยะเวลาการจัดงานในครั้งนี้ หรือรับการรักษาคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐ รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 19 จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ -10 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอล์ 11-12
ขอเชิญประชาชนที่สนใจร่วมงานกิจกรรมต่างๆ อาทิ คลินิกแพทย์แผนไทยเคลื่อนที่ให้คำปรึกษาผู้ป่วยอาการ Long Covid ศาสตร์การนวดภูมิปัญญาไทยจากภูมิภาคต่างๆ การแจกต้นพันธุ์สมุนไพรหายาก การแจกเมล็ดและต้นกัญชา ตลาดนัดความรู้ เป็นต้น
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก โทร. 0-2149-5649, Facebook Fanpage มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ หรือ Website: https://natherbexpo.dtam.moph.go.th