สหรัฐฯ เมินกติการะบบการค้าโลก เปิดดีลลับ-เล่นนอกเกม ปะทุ

08 เม.ย. 2568 | 00:00 น.

การกลับมาของทรัมป์กำลังเปลี่ยนสมดุลการค้าโลก จากระบบที่ยึดกฎเกณฑ์แบบพหุภาคี เปิด “ดีลลับ–การต่อรองด้วยอำนาจ” ใช้ภาษีเป็นอาวุธ ขณะที่ WTO ถูกสั่นคลอน

นโยบายการค้าของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังท้าทายระบบการค้าโลก โดยเสนอแนวทางที่อิงอำนาจซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไปอย่างสิ้นเชิง คำพูดและการกระทำของทรัมป์ถูกตั้งคำถามว่าวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบการค้าโลกนั้นขัดแย้งกับระเบียบการค้าโลกพหุภาคีตามกฎเกณฑ์ที่สหรัฐฯ ช่วยสร้างขึ้นเมื่อ 75 ปีก่อน

ผ่านถ้อยแถลงล่าสุดของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีการต่อรองภาษีศุลกากรโดยอาศัยอำนาจ นอกเหนือจากการต่อรองภาษีศุลกากรแบบเดิม ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ตั้งแต่ การควบคุมการย้ายถิ่นฐาน การผลิตสารตั้งต้นของเฟนทานิลไปจนถึงบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งชี้ว่าทรัมป์จะใช้โอกาสการเจรจากับผลประโยชน์ในประเทศของสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อยกเว้นในนโยบายภาษีศุลกากร ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับมุมมองของเขาที่ว่าภาษีศุลกากรเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อรองเพื่อเรียกร้องสัมปทานจากประเทศอื่น

ระบบตามกฎเกณฑ์ที่บริหารจัดการโดยองค์การการค้าโลกยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่การก่อตั้งระบบนี้เมื่อ 75 ปีก่อนเกิดจากบทเรียนของความพยายามในการต่อรองการค้าโดยใช้อำนาจที่ล้มเหลว และคุณสมบัติหลักของระบบนี้ยังคงมีค่าในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นที่ใช้อำนาจ

แม้สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีเพียง 10% ซึ่งนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” เตือนว่า ความเสียหายที่แท้จริงอาจซับซ้อนกว่าที่เห็น และสิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เพียงแค่ภาษี แต่เป็นแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะเริ่มทำตามสหรัฐ โดยใช้กำลังและผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของโลกาภิวัตน์ว่า กำลังเดินหน้าเข้าสู่ระเบียบโลกแบบใหม่ โดยอ้างถึงบทบาทดั้งเดิมของสหรัฐที่เคยเป็นผู้นำในการผลักดันระบบการค้าเสรีและ WTO แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ทำให้เกิดเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

สิ่งที่สหรัฐทำอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่การปฏิรูป แต่คือการถอนตัวออกจากระบบที่ตัวเองสร้างขึ้น การใช้ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้เฉพาะประเทศ ถือเป็นการปฏิเสธกรอบ WTO อย่างสิ้นเชิง

ทีเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวตอบโต้การขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์เมื่อวันที่ 2 เมษายนว่า ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีช่องทางที่ชัดเจนในการฝ่าฟันความซับซ้อนและความสับสนวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่โฆษกคณะรัฐมนตรีของไต้หวันกล่าวว่า มาตรการของทรัมป์นั้นไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

ผู้นำทุกแห่งกำลังหาทางตอบโต้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน สหภาพยุโรปกำลังสรุปมาตรการตอบโต้การเรียกเก็บภาษี ก่อนหน้านี้ได้แจ้งต่อรัฐสภายุโรปว่าสหภาพยุโรปพร้อมที่จะโจมตีการส่งออกบริการของสหรัฐฯ รวมถึงจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ขณะที่จีน ประกาศตอบโต้มาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากสหรัฐฯ อีก 34 เปอร์เซ็นต์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน

ก่อนหน้านั้นจีนฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อ WTO จากเอกสารของจีน ได้กล่าวถึงมาตรการขึ้นภาษีศุลกากร (tariff) สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน 10% โดยใช้อำนาจของ section 1702(a)(1)(b) ของ International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) โดยสหรัฐฯ แจ้งว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นความเร่งด่วนระดับชาติ (national emergency) คือ การไหลเข้ามาของสารสังเคราะห์โอปิออยด์ (synthetic opioids)

โดยการขึ้นภาษีศุลกากรดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับแล้วในวันที่ 4 ก.พ.2568 ซึ่งในความเห็นของจีน เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ WTO ใน 2 ประเด็นคือ ขัดต่อหลักการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง หรือ Most-favoured nation treatment (MFN) ซึ่งกำหนดให้สมาชิก WTO ใช้มาตรการเหมือนกันในสินค้าประเภทเดียวกันกับทุกประเทศสมาชิก WTO ด้วยกัน ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และ ขัดต่อพันธกรณีของสหรัฐฯ เรื่องอัตราภาษีศุลกากร โดยเป็นการเก็บภาษีเกินกว่าระดับที่ผูกพันไว้ (bound rate)

นอกจากนี้ จีนระบุว่า การทำผิดกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้จีนเสียหรือถูกลดทอนผลประโยชน์ทางการค้าที่ควรได้รับ (nullify or impair benefits) และจีนสงวนสิทธิ์ที่จะยกเรื่องเพิ่มเติมต่อไป

องค์การการค้าโลก (WTO) กำลังพยายามเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งมีเจตนาคุ้มครองทางการค้าอย่างชัดเจนและสวนทางกับพันธกิจของ WTO ที่ส่งเสริมการค้าเสรี แม้ในเวลานี้ WTO จะอ่อนแอลงการที่สหรัฐฯ ยืนยันเดินหน้าใช้นโยบายภาษี อาจทำให้บทบาทของ WTO ถูกลดทอน ทั้งในด้านการกำกับดูแลการค้า บังคับใช้กฎระเบียบ และการเจรจาข้อตกลงใหม่ ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ตัดสินใจระงับการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรนี้แล้ว แต่ก็ยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศเล็กๆ ที่ขาดอิทธิพลทางเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ของ WTO ยังคงรองรับการค้าโลกประมาณสี่ในห้า เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดกั้นระบบอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทของอเมริกาสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ อีก 16 ประเทศ

รวมทั้งจีน ได้จัดตั้งองค์กรทางเลือกขึ้น สมาชิก WTO กว่า 90 ประเทศกำลังเจรจาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ อีกกลุ่มหนึ่งกำลังดำเนินการตามข้อตกลงการลงทุน สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความจำเป็นในการปฏิรูปองค์กร แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ต้องการยกเลิกWTOไปเลย

สำหรับท่าทีของอาเซียนล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2025 อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โพสต์ข้อความภายหลังการหารือผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ต่อมาตรการทางภาษีศุลกากรของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ โดยระบุว่า ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ รวมทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม และสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสานงานการตอบสนองร่วมกันต่อปัญหาภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันที่บังคับใช้โดยสหรัฐ

ในฐานะประธานอาเซียน มาเลเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิก และยึดมั่นในหลักการของความเป็นธรรมและความเสมอภาคในการเจรจาการค้าทั้งหมด รวมถึงในกรอบการเจรจาอาเซียน-สหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าจะยังคงหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป และแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศสมาชิกทั้งหมด

ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) เผยให้เห็นแนวโน้มสำคัญของการค้าโลกตลอด 15 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2552–2567) ว่า มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) มีจำนวนรวมแล้วมากกว่า 60,000 มาตรการ

ในจำนวนนี้ มากกว่า 18,000 มาตรการเกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อม คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของ NTBs ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า “สิ่งแวดล้อม” กลายเป็นหนึ่งในประตูการค้าที่ซับซ้อนและเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ

บรรดา NTBs ทั้งหมด มาตรการที่พบมากที่สุดคือ “มาตรการด้านเทคนิค” หรือ Technical Barriers to Trade (TBT) เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า การรับรองคุณภาพ การติดฉลากที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกได้ แม้ไม่ได้เรียกเก็บภาษีโดยตรง

สำหรับประเทศไทย คู่ค้าหลักที่มีการใช้ NTBs กับสินค้าไทยมากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 สหภาพยุโรป (EU) อันดับ 2 สหรัฐ ทั้งสองภูมิภาคนี้ใช้มาตรการ NTBs มากในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในสินค้าอาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าหลักของการส่งออกไทย

ประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง WTO ในลำดับที่ 59 โดยเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง และได้ใช้ประโยชน์จากกลไกของ WTO บ่อยครั้ง โดยประเทศไทยได้แสดงบทบาทในการปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า ทั้งด้านการส่งออกและด้านการให้ความคุ้มครองปกป้องสินค้าและบริการภายในประเทศที่มีความอ่อนไหว

ภายใต้กรอบ WTO โดยประการสำคัญประเทศไทยมีส่วนร่วมสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและ WTO มาโดยตลอดโดยนอกจากจะดำเนินการ ในนามของประเทศไทยแล้ว เพื่อให้การดำเนินการหรือผลักดันในประเด็นต่างๆ มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกรายอื่นดำเนินการในลักษณะกลุ่ม อาทิ กลุ่ม ASEAN กลุ่ม Cairns และกลุ่ม G20 ในการเจรจาสินค้าเกษตร กลุ่ม AD Friends ในการเจรจากฎระเบียบเกี่ยวกับการทุ่มตลาด กลุ่ม GI Friends ในการเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาในประเด็นการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์