10 สัญญาณเตือนอาการ"ไทรอยด์เป็นพิษ" มีอะไรบ้าง เช็คเลย

19 ก.ค. 2565 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2565 | 17:38 น.

รู้จักอาการ"ไทรอยด์เป็นพิษ" คร่าชีวิต"ซันนี่ ยูโฟร์"เช็คเลย 10 สัญญาณเตือนมีอะไรบ้าง สาเหตุที่มาที่ไปของโรค การรักษามีแบบไหนบ้าง

จากกรณีที่"ซันนี่ ยูโฟร์"อดีตนักร้องวงยูโฟร์ เสียชีวิตเมื่อวานที่ผ่านมาด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"จึงขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และสัญญาณบ่งชี้ของอาการไทรอยด์เป็นพิษที่ต้องจับสังเกตมีอะไรบ้าง ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่นี่ 


ผศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุในบทความเรื่อง สัญญาณเตือน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โดยเผยว่า  ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเป็นภาวะที่ระบบควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์เสียไป ทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ เมื่อร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความต้องการจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้

 

  1. ชี้ร้อน เหงื่อออกมาก
  2. ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอโตขึ้น
  3. มือสั่น
  4. หงุดหงิดง่าย
  5. ผมร่วง
  6. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  7. ถ่ายอุจจาระบ่อย ลักษณะอุจจาระค่อนข้างเหลว
  8. รับประทานอาหารปริมาณเท่าเดิม หรือมากขึ้น แต่น้ำหนักลดลง
  9. กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะต้นแขนและต้นขา
  10. บางรายอาจมีอาการตาโปนร่วมด้วย

 

ทั้งนี้หากพบว่ามีอาการเสี่ยงสงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที

10 สัญญาณเตือนอาการไทรอยด์เป็นพิษ

 

 

 

ด้าน อ. พญ. สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้อธิบายเกี่ยวกับโรคไทรอยด์เป็นพิษว่าสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ความรุนแรงของโรคนั้นมีมากน้อยแค่ไหน และจะทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ สามารถศึกษารายละเอียดได้ดังนี้

 

ไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุ
เกิดจากปฏิกิริยาร่างกายของเราเอง ที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย  เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์มีมากเกินความจำเป็น ก็จะส่งผลให้มีอาการในอวัยวะต่าง ๆ ได้หลาย ๆ อย่าง เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอย์ทำงานมากผิดปกตินี้ว่า ไทรอยด์เป็นพิษ

 

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ 
จะมีอาการได้หลากหลาย เช่น ใจสั่น มือสั่น ทำกิจกรรมก็จะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ น้ำหนักลดได้ ในเพศหญิงบางคนอาจประจำเดือนมาผิดปกติ บางรายอาจมีถ่ายเหลวคล้าย ท้องเสียถ่ายวันละหลาย ๆ ครั้ง อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย บางรายอาจสังเกตได้ว่ามี คอโต ตาโปนได้ บางรายที่เป็นนาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือว่าภาวะกระดูกบางที่เกิดจากแคลเซียมในเลือดที่สูงกว่าปกติ ทำให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุน
 


ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากร่างกายของเราเอง
ดังนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่แล้ว ปกติแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรหยุดยาเองให้ปรึกษาแพทย์ เมื่ออาการดีขึ้น ผลเลือดดีขึ้น แพทย์จึงจะค่อย ๆ ลดยาลง ในบางรายอาจหยุดยาได้ในที่สุด

 

การรักษาอื่น ๆ 
ถ้าในกรณีที่รักษาด้วยการรับประทานยาแล้วได้ผล อาจจะให้การรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน หรือการผ่าตัด อย่างไรก็ตามแพทย์ก็จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้


 

ที่มาข้อมูล