เปิดแนวทางรักษา “ฝีดาษลิง” วางเกณฑ์แยก 5 โรคอาการคล้ายกัน

27 ก.ค. 2565 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2565 | 08:46 น.

เปิดแนวทางรักษา “ฝีดาษลิง” วางเกณฑ์แยก 5 โรคเบื้องต้นที่มีอาการคล้ายกัน ทั้งอีสุกอีใส เริม งูสวัด ไข้ทรพิษ และฝีดาษลิง

"ฝีดาษลิง" องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยมี 3 ข้อพิจารณา คือ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เนื่องจากการแพร่กระจาย ของโรคระหว่างประเทศ และต้องใช้ความร่วมมือ ประสานกันระหว่างประเทศในการควบคุมโรค

 

ในการประชุมของคณะกรรมการวิชาการของWHO ไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศ แต่มีข้อโต้แย้งกัน ซึ่งผอ.WHOจึงใช้ดุลยพินิจว่าควรจะประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน

แนวทางการดูแลรักษา “ฝีดาษลิง”

  • กรมการแพทย์ เตรียมหารือกับ รพ. คลินิกผิวหนัง ประชุมแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เพราะเป็นโรคใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นโรคเดิมประจำถิ่นในแอฟริกา
  • ฝีดาษลิง ถือเป็น DNA VIRUS ติดต่อ เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มฝีหนอง น้ำเหลือง หรือ น้ำต่างๆ ของร่างกาย ระยะฟักเชื้อ 7-21 วัน หรือ ประมาณ 3 สัปดาห์ โดยตุ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกาย สามารถขึ้น ได้ทั่วตัว

อาการเกิดตุ่มมี 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 มีตุ่มแดงขึ้น
  • ระยะที่2 ตุ่มพัฒนากลายเป็น ตุ่มนูน
  • ระยะที่ 3 ตุ่มกลายเป็นหนอง
  • ระยะที่ 4 ตุ่มแตก ซึ่งการแพร่เชื้อและติดต่อจะเกิดในระยะที่ 3 และ 4

 

ฝีดาษลิงหายเองได้ไหม

  • ทั่วไปโรคนี้สามารถหายได้เอง หรือใช้การรักษาตามอาการ
  • สำหรับคนที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รับประทานยากดภูมิในคนรักษามะเร็ง หรือ ปลูกถ่ายอวัยวะ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 8 ปี และหญิงตั้งครรภ์

 

อาการโรคฝีดาษลิง

  • มีไข้ ปวดเมื่อยศีรษะตามร่างกาย ปวดหลัง
  • อาการเด่นชัด ต่อมน้ำเหลืองโต รักษาเน้นประคับประคอง จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีลักษณะของตุ่มน้ำ ตามผิวหนัง ใกล้เคียงหลายโรค ซึ่งแนวทางการแยกโรค จะมีการประชุมของกรมการแพทย์และสรุปส่งให้ทาง EOCกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป

 

สถาบันโรคผิวหนังได้วางเกณฑ์และแนวทางจำแนกแยกโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับฝีดาษลิง เพื่อให้แยกโรคออก

  1. โรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัว ในกระพุ้งแก้ม ช่องปาก สามารถติดต่อได้จากละอองฝอย ถือว่าเป็นกลุ่มอาการรุนแรงน้อย ในกลุ่มที่มีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ระยะฟักโรค 11-20 วัน รักษาด้วยการทานยาต้านไวรัส
  2. โรคเริม นอกจากตุ่มน้ำตามร่างกายแล้ว ยังจะมีอาการอักเสบตามเส้นประสาท และทิ้งรอยโรคไว้ สามารถกลับมาป่วยซ้ำได้ โดยมีระยะฟักตัว 3-7 วัน รักษาด้วยยาต้านไวรัส
  3. งูสวัด เป็นการพัฒนาของเชื้ออีสุกอีใส แต่เชื้อหลบที่ปมประสาท ทำให้มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีอาการแสบร้อน คันผิวหนัง ติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่ง การรักษาเน้นยาต้านไวรัส
  4. ไข้ทรพิษ มีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ่มผื่นขึ้น อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดท้อง ระยะฟักตัว 7-17 วัน การรักษาเน้นประคับประคอง
  5. ฝีดาษลิง มีตั้งแต่ไข้ ปวดเมื่อยศีรษะตามร่างกาย ปวดหลัง และเด่นชัดต่อมน้ำเหลืองโต รักษาเน้นประคับประคอง

 

  ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง

  1. ไข้ หรือให้ประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการอย่างน้อย 1 อย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  2. มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
  3. มีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา ดังนี้ 1. มีประวัติเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศและแพทย์ให้การวินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร  2. มีประวัติเดินทางไปเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศหรือ 3. มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องแล็บ 2 แห่งในระยะแรกเพื่อยืนยันผล