ผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตน อาการไม่รุนแรง(กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว)สามารถรับยาที่ร้านยาที่ร่วมโครงการกับสปสช.ได้แล้ว
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อให้การดูแลประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ตามข้อสังการนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดระบบสำหรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม (อาการไม่รุนแรง) สามารถรับยาโควิด-19 แบบเจอ-แจก-จบ จากร้านยาที่ร่วมโครงการกับ สปสช.ทั่วประเทศได้แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เปิดรับเฉพาะผู้ป่วยโควิดสิทธิบัตรทองเท่านั้น
เพจเฟซบุ๊กสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า อัพเดทข้อมูล ผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิประกันสังคม (ผู้ประกันตน) รับยาที่ร้านยาได้แล้ว ตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2565
ร้านยาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเขียว “รับยา แนะนำการใช้ยา”
รับผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และสิทธิประกันสังคม (ผู้ประกันตน)
ขั้นตอนการรับยาที่ร้านยา
1.ผู้ที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด อาการไม่รุนแรง (กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว)
สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.-สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่
-อายุน้อยกว่า 60 ปี
-น้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลกรัม หรือ BMI ไม่เกิน 30
-ไม่ตั้งครรภ์
-ไม่เป็นคนพิการ
-ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง
-ไม่มีโรคประจำตัว รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน แม้จะคุมอาการได้ก็ตาม
-ไม่ใช่กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์
-ไม่มีอาการของโรคโควิด-19 รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ
-ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น ภาวะอ้วน
2.โทร.ติดต่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ร้านยาจะให้แอดไลน์ เพื่อส่งผลตรวจ ATK คู่กับบัตรประชาชน (ไม่จำเป็นต้องมาที่ร้านยา)
3.ร้านยาซักประวัติข้อมูลทั่วไป แนะนำและให้คำปรึกษาการใช้ยา
4.ไม่มีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยไม่ควรมารับยาที่ร้านเอง แนะนำให้ญาติหรือคนอื่นมารับแทน
ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่
https://www.nhso.go.th/downloads/197
หรือดูตำแหน่ง “ร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว” บนแผนที่ดิจิทัลกับ NOSTRA Map ที่
https://map.nostramap.com/NostraMap/?layer/covid19pharmacy,feed/th
ที่มา : ข่าวคณะโฆษก , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ