รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
สรุปความรู้ปัจจุบันเกี่ยวกับ Long COVID สำหรับประชาชน
ความสำคัญ:
ภาวะผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า Long COVID (ลองโควิด) นั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวล และส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับทั้งผู้ป่วย ครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคม
สาเหตุ:
การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น แม้รักษาระยะแรกหายแล้ว แต่ก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายต่อเนื่อง โดยอาจเกิดขึ้นจาก
อาการผิดปกติของ Long COVID:
เกิดขึ้นได้แทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท ภาวะสมองฝ่อ ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากกว่าปกติ ปวดหัว เวียนหัว ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน
ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่างๆ
ระบบหายใจผิดปกติ ทำให้เหนื่อยง่าย หอบ เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน
ระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็อาจคุมโรคได้ยากมากขึ้น, ฮอร์โมน Cortisol ต่ำกว่าปกติ, และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ อารมณ์ทางเพศลดลง ปัญหาในการหลั่งอสุจิ
รวมถึงอาการทางระบบอื่น ได้แก่ อ่อนเพลียเหนื่อยล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆ ตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
ต้องเผชิญกับอาการผิดปกติไปนานแค่ไหน?:
อาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น
เกิดกับใครได้บ้าง?:
เกิดได้ทั้งในคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง
เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย
โดยผู้ที่ป่วยปานกลางและรุนแรงจะเสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ, เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย (ราว 2 เท่า), และวัยผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าวัยเด็ก
โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด?:
เฉลี่ยแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นราว 5-30⁺%
ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ และปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ วัย อาการป่วยที่เป็น การฉีดวัคซีน ฯลฯ
US CDC พบว่า เกิดในวัยผู้ใหญ่ได้ราว 1 ใน 5 และในวัยเด็กได้ราว 1 ใน 4
ผลวิจัยล่าสุดในเนเธอร์แลนด์ พบเฉลี่ย 1 ใน 8 แต่ไม่ได้รวมอาการสำคัญที่พบบ่อยทั่วโลกคืออาการผิดปกติทางด้านความคิดความจำ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงกว่านั้น
ป้องกันได้ไหม?:
การฉีดวัคซีนครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ราว 15%
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ
มีวิธีรักษาไหม?:
ยังไม่มีวิธีรักษา Long COVID เฉพาะเจาะจง ปัจจุบันมีงานวิจัยทั่วโลกราว 26 โครงการที่กำลังศึกษาอยู่ แต่ต้องใช้เวลา
หากมีอาการผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการดูแลรักษาโรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี?:
สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ควรหมั่นประเมินสภาพร่างกายและจิตใจเป็นระยะ หากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ
รักตัวเองและครอบครัวให้มาก ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก