เปิดสถิติครึ่งปีคนไทยรับบริการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่กว่า 1 แสนครั้ง

27 ส.ค. 2565 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2565 | 19:30 น.

สปสช.เผยครึ่งปี มีผู้ประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตนตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วกว่า 7 หมื่นคน รวมจำนวนการรับบริการกว่า 1 แสนครั้ง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนสามารถไปรับบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ครอบคลุมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

โดยระบุว่าข้อมูลการรับบริการตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 มีประชาชนเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตน ในหน่วยบริการ 524 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 77,678 คน 105,662 ครั้ง 

สำหรับเขตพื้นที่ที่มีจำนวนผู้เข้ารับบริการมากที่สุดคือพื้นที่ สปสช. เขต 9 นครราชสีมา มีผู้เข้ารับบริการ 20,557 คน รวม 26,582 ครั้ง รองลงมาคือพื้นที่ สปสช.เขต 8 อุดรธานี มีผู้เข้ารับบริการ 17,466 คน รวม 24,539 ครั้ง และ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 13,109 คน รวม 16,986 ครั้ง ส่วนที่เขตที่เหลือ มีจำนวนผู้เข้ารับบริการต่ำกว่า 1 หมื่นคน โดยนอกจากพื้นที่ สปสช.เขต 6 ระยอง ที่มีผู้เข้ารับบริการ 7,110 คน รวม 12,725 ครั้งแล้ว พื้นที่อื่นๆ มีจำนวนผู้เข้ารับบริการอยู่ระหว่าง 1,000-3,500 คน

 

โดยพื้นที่ที่มีจำนวนผู้เข้ารับบริการน้อยที่สุดคือ สปสช.เขต 2 พิษณุโลก จำนวน 811 คน รวม 954 ครั้ง ขณะที่ในส่วนของพื้นที่ สปสช. เขต 13 กทม. 1 มีจำนวนผู้เข้ารับบริการ 4,778 คน รวม 5,497 ครั้ง

"ตัวเลขพวกนี้สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการอำนวยความสะดวกของผู้ใช้สิทธิในการเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตัวเอง เช่น บางคนอยู่อำเภอหนึ่งแล้วไปทำงานอีกอำเภอหนึ่ง หรือทำงานรับจ้างข้ามจังหวัดในระยะสั้นๆ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวหรือเดินทางกลับไปที่หน่วยบริการประจำของตัวเอง" นพ.จเด็จ กล่าว

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพื้นที่ที่มีผู้เข้ารับบริการน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าประสบความล้มเหลวในการขับเคลื่อนนโยบายนี้เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย อาทิ ประชาชนในพื้นที่คุ้นเคยกับการรับบริการที่หน่วยบริการประจำของตน มีการทำงานหรือเดินทางข้ามพื้นที่น้อยจึงไม่มีเหตุให้ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่น หรืออาจเกิดจากมีการเดินทางข้ามพื้นที่แล้วย้ายรายชื่อมาลงทะเบียนหน่วยบริการประจำในพื้นที่ใหม่ด้วย ตัวเลขสถิติการรับบริการจึงไม่ถูกรายงานว่าเป็นการรับบริการข้ามพื้นที่ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้นโยบายบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิ แต่ สปสช. ขอแนะนำประชาชนผู้ใช้สิทธิว่าควรเข้ารับบริการในหน่วยบริการอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตนเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเดินสายเปลี่ยนสถานที่รับบริการไปเรื่อยๆ เหตุผลเพราะหน่วยบริการประจำของผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะคุ้นเคยกับผู้ป่วย เข้าใจอาการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่และสามารถวิเคราะห์และวางแนวทางการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถนำข้อมูลภาวะสุขภาพในพื้นที่นั้นๆ ไปวิเคราะห์และวางแผนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้แก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด ซึ่งการเปลี่ยนสถานที่รับบริการไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองเสียประโยชน์ในจุดนี้ไป

 

ทั้งนี้ ประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) นอกจากไปรักษาที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ประจำที่ท่านลงทะเบียนไว้แล้ว ยังสามารถไปรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่ กทม.), คลินิกชุมชนอบอุ่น, สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน

สามารถค้นหารายชื่อหน่วยบริการปฐมภูมิที่สามารถไปรักษาได้ที่ https://www.nhso.go.th/page/hospital เพียงเลือกประเภทการขึ้นทะเบียน ที่ระบุว่า บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป หรือ หน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพ แล้วเข้าไปรักษาได้ทันที

 

4 วิธีเช็คสิทธิรักษาพยาบาล ทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง
1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 2
2.เว็บไซต์ สปสช. https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
3.แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิตนเอง
4.ไลน์ สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ