รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
อัพเดตเรื่อง Omicron BA.2.75.2
Cao YR และคณะ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ได้รายงานผลการวิเคราะห์สมรรถนะของ Omicron BA.2.75.2 เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
พบว่า BA.2.75.2 ดื้อกว่า Omicron สายพันธุ์อื่นๆ อย่างมาก ทั้งในคนที่ฉีด Coronavac 3 เข็ม รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ มาก่อนก็ตาม
นอกจากนี้ เมื่อดูสมรรถนะในการจับกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ จะพบว่า
BA.2.75.2 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ของ Omicron ที่ตรวจพบในปัจจุบันนั้นมีสมรรถนะจับกับตัวรับ ACE2 ได้มากกว่าสายพันธุ์ D614G (ที่เคยเป็นตัวทำให้เกิดระบาดระลอกสองทั่วโลกตอนปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564)
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า BA.2.75.2 นั้นมีทั้งสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน
และจับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ได้มาก จึงมีโอกาสที่จะนำไปสู่การระบาดระลอกถัดไปในอนาคตได้ หากไม่ป้องกันให้ดี
Long COVID ในบราซิล
Ceron ABC และคณะจากบราซิล ทำการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเกิดปัญหา Long COVID
โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงตั้งแต่กันยายน 2563 ถึงเมษายน 2564 จำนวน 814 คน
และคนที่ไม่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 402 คน
พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน จะมีอัตราการเกิดปัญหา Long COVID ราว 29.6%
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วย Long COVID พบว่ามีถึง 55.9% ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก