นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. จะสิ้นสุดระยะเวลาการทำงานอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ วันที่ 23 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ ศบค. ต้องยุบเลิกการทำงานไปพร้อมกัน
โดยสาระสำคัญของเรื่อง ระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในคราวที่ 19 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565
รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และครม.ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยตอนหนึ่งในช่วงการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในช่วงท้ายการประชุม หลังจากต้องยุบ ศบค. แล้ว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการดำเนินงานของ ศบค. ตามแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ได้มีการทำงานผ่านกลไกของศูนย์ปฏิบัติการกว่า 10 ศูนย์ รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด– 19 (ศปก.ศบค.) ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน
“ศบค.ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมใจร่วมมือในการทำงาน และภาครัฐทุกภาคส่วนก็ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้เราผ่านพ้นสานการณ์ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนอย่างนี้ และก็ได้รับการชื่นชมในระดับโลก”
ส่วนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ที่ผ่านมา ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และตอนนี้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้วางแผนมาแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนที่เกิดขึ้น จนถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็กล่าวขอบคุณทุกคนในที่ประชุม
พร้อมกันนี้ยังขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ต่อจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปให้สามารถเกิดความเรียบร้อย จากนั้น นพ.ทวีศิลป์ จึงกล่าวในช่วงท้ายของการแถลงว่า ในนามโฆษก ศบค. ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงในการทำงานที่ผ่านมา และขอให้ทุกคนได้ดูแลสุขภาพ เพื่อให้มีชีวิตเป็นปกติอย่างที่เคยเป็นมา
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกศูนย์ปฏิบัติการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ
ทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาได้
จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว ยังขอเน้นย้ำเป็นภารกิจของทุกหน่วยงานที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป การประชุมในวันนี้ถือว่าภาพรวมของ ศบค. ได้ดำเนินการร่วมกันมาเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งได้เห็นผลลัพธ์ในการดำเนินงานทั้งในรูปของปฏิบัติการควบคุมโรค ความก้าวหน้าเรื่องวัคซีน รวมถึงผลลัพธ์ของหน่วยงานทุกหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
โดยขอเน้นย้ำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนรองรับการปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะระดับจังหวัดและพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนแผนให้เกิดความสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรม ให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุก ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เข้าใจในการทุ่มเททำงานอย่างหนักของรัฐบาล
นอกจากนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนในภารกิจที่รัฐบาลดำเนินการ ทั้งในเรื่องการเตรียมความพร้อมการให้การบริการทางสาธารณสุข การกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติของประชาชนในขณะที่โรคโควิดถูกกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือด้วย
ทั้งนี้ตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) มาจนถึงปัจจุบันฐานเศรษฐกิจได้รวบรวมระยะเวลาพบว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 มีระยะเวลาการทำงานรวม 933 วัน หรือคิดเป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่ง
อ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนกลไกการดำเนินต่อจากนี้ จะอยู่ภายใต้การทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับใหม่
ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเชื่อว่า กลไกดังกล่าวจะสามารถดูแลและรองรับสถานการณ์การติดเชื้อได้ และแผนต่าง ๆ ก็มีรองรับไว้หมดแล้ว