วันที่ 23 ก.ย. 2565 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
ลงพื้นที่ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนทรัพย์สินเก่า และชุมชนพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ประกาศปฏิญญาสนับสนุน “การจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย” ในงาน BKK-เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง Kick off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดล ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ หรือ Learning Loss
นายศานนท์ กล่าวว่า ในวาระเทศกาลเด็กและเยาวชน BKK เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง กทม. เราให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF และศักยภาพทุกด้านจากภาวะถดถอย หรือ Learning Loss ช่วงโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน 9 มิติ ทั้งด้านสุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ฯลฯ
ซึ่งพบว่า หนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านช่วยพัฒนาเด็กเล็กได้เต็มศักยภาพ วันนี้ต้องขอขอบคุณเครือข่าย ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยชุมชน ที่ร่วมกันสร้างรูปธรรมให้ปรากฏ กทม.เองก็พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลอย่างจริงจัง เพื่อให้นโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยที่ท่านผู้ว่าฯประกาศรับไว้ บรรลุผล”
นางญาณี กล่าวว่า หนังสือนิทานเหมือนหน้าต่างบานแรก ที่บ่มเพาะให้เด็กปฐมวัยอายุ 0 – 6 ปี ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าผลกระทบทางสังคมช่วงโควิด-19 เด็กเล็กมีพัฒนาด้านการอ่านน้อย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ และการอ่านทำให้เกิด “การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต” (lifelong learning) ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ สสส. พบว่า หนังสือนิทานส่งเสริมทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม 4 ข้อ
“การอ่าน เป็นระบบนิเวศการสื่อสารสุขภาวะที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย สสส. พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านเพื่อร่วมฝ่าวิกฤตภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เด็กๆต้องเรียนทางออนไลน์ ซึ่งครอบครัวและชุมชนคือกุญแจสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้วิกฤต เรื่องพัฒนาการภาษาล่าช้า ลดภาวะถดถอยด้านต่างๆ ในเด็กปฐมวัยได้ การลงพื้นที่ชุมชนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของหนังสือนิทาน ที่กระตุ้นทักษะด้านต่างๆ ได้จริง สสส. จึงพร้อมสนับสนุนนโยบายสวัสดิการหนังสือเด็ก ให้กับครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดและเด็กปฐมวัยได้มีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม เพื่อจุดประกายให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ สร้างความรัก ความผูกพัน และฟื้นฟูวิกฤตจากโควิด-19 รวมถึงขอบคุณ กทม. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่เป็นพลังสำคัญ ช่วยกันทำให้ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของเด็กกว่า 90% มีสุขภาวะที่ดีอีกครั้ง” นางญาณี กล่าว
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่หากสามารถแปรนโยบายที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติประกาศรับเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ให้เกิดแนวปฏิบัติในการพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยอายุ (0 – 6 ปี) ด้วยสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กได้ จะก่อประโยชน์อย่างมากต่อแนวทางของเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ซึ่ง “หนังสือนิทาน” จะช่วยกอบกู้ทักษะของเด็ก ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้
ดังที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุว่า เด็กเล็กมีแนวโน้มสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าเด็กโต เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะต่อพัฒนาการตามช่วงวัย หากสามารถขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ และชุมชนท้องถิ่นได้ จะเป็นสัญญาณที่ดีในการทำเรื่องนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “อ่านยกกำลังสุข”
“หากชุมชนเข้มแข็ง จะช่วยนำพาครอบครัวและเด็กเล็กผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ปีนี้นอกจากขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เราต้องการส่งเสริมการอ่านให้เป็นรูปธรรม จึงขยายผลไปในระดับชุมชน เพื่อให้มีความต่อเนื่องและทำได้จริง โดยส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการหนังสือนิทานเพื่อเด็กแรกเกิด อย่างน้อย 3 เล่ม ร่วมกับ สสส. กทม. และภาคีเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมครอบครัวอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง” นางสุดใจ กล่าว
นายชำนาญ สุขีเกตุ ประธานชุมชนเก้าพัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ครอบครัวได้ร่วมโครงการรักการอ่านกับ สสส. ตั้งแต่ประมาณปี 2561 หลังพบว่าเด็กในชุมชนบางครอบครัว มีพัฒนาการล่าช้า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดทักษะเข้าสังคม จึงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มาทำพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กและผู้ปกครอง ที่ศูนย์ชุมชนทุกวันหยุดหรือวันว่าง โดยจะอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากหนังสือให้กับเด็ก
เช่น ทำอาหาร ปลูกผัก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกว่า 11 ครัวเรือน มีแผนขยายไปในครอบครัวรุ่นใหม่ และบ้านที่มีหญิงตั้งครรภ์กำลังจะคลอด เพื่อส่งเสริมให้ทุกบ้านมีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบผู้ปกครองสนใจมากขึ้น เพราะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดจอมือถือ จากช่วงโควิด-19 ที่เด็กทุกคนต้องเรียนออนไลน์ อยู่แต่ในบ้าน”
“ผมป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน หากเป็นช่วงบั้นปลายชีวิต ก็ต้องการขับเคลื่อนโครงการรักการอ่านให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน เพราะอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของหนังสือนิทานกับเด็กปฐมวัย ตอนนี้ผมกับภรรยา กำลังขยายให้ผู้ปกครองบ้านอื่นๆ ให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ถ้าใครอ่านก็อัดคลิป ส่งมาแชร์ความสุขความอบอุ่นในกลุ่มกัน และพยายามทำศูนย์ฯ แห่งนี้ ให้เกิดความปลอดภัย เป็นที่ไว้ใจของผู้ปกครอง ให้ส่งเด็กมาทำกิจกรรมวันว่าง นอกจากนี้มีแผนทำห้องสมุดเคลื่อนที่อีกครั้ง เพื่อส่งหนังสือนิทานและหนังสือต่างๆ ให้เด็กและครอบครัวได้อ่านกัน” นายชำนาญ กล่าว