เด็กไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้น 4% เร่งรัฐ แก้ปัญหาภาวะเครียด - ซึมเศร้า

02 ก.พ. 2566 | 01:32 น.

สถาบันวิจัย จุฬาฯ เผยผลวิจัย พบเด็กไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้น 4% ทำร้ายตัวเอง 12% และเด็กกว่า 30% มีอาการเศร้าบ่อยๆ เร่งรัฐ - ผู้เกี่ยวข้อง วางแผนเชิงนโยบาย แก้ไขอย่างเป็นระบบ

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดทำ“โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเครือข่ายผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ในเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสุขภาวะในประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา พบสถิติพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในหลายประเด็นที่น่าวิตกกังวล และควรเร่งดำเนินการ เพื่อหาแนวทางลดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสภาวะสุขภาพทางจิต หลังพบนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมีความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีความคิดอยากฆ่าตัวตายสูงถึง 4% 

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาวะเครียดและซึมเศร้า ปัญหาเร่งด่วนอันดับหนึ่งของนักศึกษาไทย วอนผู้เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขหาทางออก พร้อมวางแผนเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ เพราะผลสำรวจระบุถึงประเด็นสุขภาพจิตว่านิสิตนักศึกษา

 

พบ 30% รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดย 4.3% ของเด็กกลุ่มนี้ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) และเกือบ 40% มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยกว่า 4% ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา อีก 12% เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว โดยในจำนวนนี้มีถึง 1.3% ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การเผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาฯ ในวงกว้างครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ระดับผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้รับรู้และเริ่มดำเนินการวางแผนจัดการภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงขอความร่วมมือจากครูอาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับให้นิสิตนักศึกษามีสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ และเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ  

 

ทุกปัญหาที่สะท้อนออกมาจากผลสำรวจล้วนสำคัญ แต่ปัญหาที่เร่งด่วนอันดับต้นๆ ก็คือ เรื่องความเครียดและภาวะซึมเศร้าของนักศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรสำรวจต่อในเชิงรุก เพื่อจะรับรู้ถึงสาเหตุและระดับของปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขได้อย่างถูกต้องและตรงจุด เพราะการป่วยทางสภาพจิตใจย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัญหาอื่นๆ 
 

หากนักศึกษาเกิดความเครียดจากการเรียน ทางมหาวิทยาลัยเองก็บริหารจัดการ อาทิ หากิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรือจัด Health Promotion เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้นักศึกษาจัดการกับความเครียดของตัวเอง แต่หากอยู่ในขั้นที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จำเป็นต้องมีระบบการส่งต่อที่ดีไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย เพื่อการดูแลในขั้นตอนต่อไป เป็นต้น

 

ปัญหารองลงมา คือด้านการเงิน เนื่องจากการที่รับรู้ว่าครอบครัวมีภาระหนี้สิน หรือแม้แต่ตัวนักศึกษาเองหากติดพนันออนไลน์ หรือมีหนี้นอกระบบ ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา ซึ่งก็ควรมีแนวทางบริหารจัดการทางการเงิน และอีกปัญหาสำคัญอีกประการ คือ เหล้า บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่เวลามีความเครียดสะสมมากๆ ก็อาจหลงผิดไปพึ่งพาสิ่งเสพติดเหล่านี้ ซึ่งต้องคำนึงถึงสถานที่ตั้งของสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ควรให้ห่างจากสถาบันการศึกษา ซึ่งในเชิงนโยบายควรมีตัวบทกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

ทุกปัญหาควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกัน ได้แก่ 

  1. ผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาของสถาบันการศึกษา เพราะจะเป็นผู้ที่สามารถบริหารได้ทั้งสถาบัน สามารถคิดและวางกลไกในการดูแลนิสิตนักศึกษาได้ และจะต้องทำงานกันเป็นทีม
  2. พ่อแม่และผู้ปกครอง เพราะครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยดูแลนิสิตนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด 
  3. กลุ่มเพื่อน เพราะด้วยช่วงวัยนี้จะติดเพื่อน เชื่อเพื่อน ซึ่งเพื่อนเองก็ต้องคอยสังเกตเพื่อนด้วยกัน คอยดูแลใส่ใจกัน 

 

จากหลายผลวิจัย จะเห็นว่าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยเองก็ต้องให้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน หรือควรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนต่างๆ เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมของนิสิตนักศึกษา เป็นต้น  

 

อีกทั้ง กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง สามารถดำเนินการเพื่อลดปัญหาสุขภาวะดังกล่าวได้ เนื่องจาก อว. มีอำนาจในการสั่งการและวางนโยบายต่างๆ อาทิ ให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการดูแลสุขภาพทั้งในส่วนของนักศึกษาและบุคลากร นอกจากนี้ โรงพยาบาลและสถานพยาบาลในมหาวิทยาลัย หรือศูนย์พยาบาลสำหรับนิสิตนักศึกษาก็สามารถช่วยเหลือได้ โดยสามารถยกระดับในการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการออกแบบแคมเปญการดูแลสุขภาพในเชิงรุก หรือเป็น Health Leader ยกตัวอย่างอาจปรับสถานพยาบาลให้เป็น Wellness Center คือไม่รอให้คนป่วยเดินเข้าไปหา แต่ต้องทำในเชิงป้องกันมากขึ้น เช่น จัดเวิร์กช้อปให้ความรู้ด้านสุขภาพ, เชิญชวนนักศึกษาและบุคลากรออกกำลังกาย, ให้ความรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยี เป็นต้น

 

สุดท้ายอยากวิงวอนให้ อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและร่วมหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ และกำหนดในเชิงนโยบาย รวมถึงอยากให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และ สสส. ได้ทำผลสำรวจในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้ทราบถึงสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เช่น หากพบว่าความเครียดของนักศึกษาส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการเรียน หลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย หรือสามารถระบุชัดเป็นคณะ ก็จะได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและกำหนดเป็นแนวทางปฎิบัติอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้กับนักศึกษา เพื่อให้มีความสุขกับการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย มีสุขภาพที่ดีทั้งกายใจและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต