รู้จัก "โรคไซโคพาธ" อาการต่อต้านสังคม เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

26 ก.พ. 2566 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2566 | 09:14 น.

โรคไซโคพาธ หรือ Psychopaths การป่วยทางจิต ต่อต้านสังคม เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ไปทำความรู้จักอาการ พฤติกรรม สาเหตุ รวมทั้งวิธีการรักษาโรคนี้ ทั้งหมดรวมไว้ที่นี่ครบ

โรคไซโคพาธ หรือ Psychopaths หนึ่งในอาการป่วยทางจิตอีกรูปแบบหนึ่ง กลับมาเป็นที่สนใจในสังคมไทยอีกครั้ง หลังเกิดกรณี น้องต่อ เด็กชายวัย 8 เดือน หายจากบ้านในที่จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสงสัย และนำตัว น.ส.นิ่ม แม่ของน้องต่อ เข้ารับการตรวจสุขภาพจิต 

เบื้องต้นมีรายงานว่า แม่น้องต่ออาจป่วยเป็นโรคไซโคพาธ ซึ่งเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติ ขาดความสำนึกผิดความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น ฐานเศรษฐกิจ ขอสรุปรายละเอียดของโรคไซโคพาธ และไปทำความรู้จักอาการ พฤติกรรม สาเหตุ รวมทั้งวิธีการรักษาโรคนี้ ว่าเป็นอย่างไร

ทำความรู้จักโรคไซโคพาธ 

กรมสุขภาพจิต ระบุรายละเอียดของ “โรคไซโคพาธ” ไว้ว่า โรคนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยมีลักษณะ ขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

สาเหตุของการเกิดโรคไซโคพาธ

ด้านทางกาย : ด้วยมีความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า-ส่วนอะมิกดะลา ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรืออุบัติเหตุทางสมอง และพันธุกรรม

ด้านจิตใจและสังคม : ด้วยถูกกระทำทารุณในวัยเด็ก ถูกเลี้ยงดูแบบละเลยเพิกเฉย

รวมทั้งยังอาจเกิดจากกรณีอาชญากรรมในครอบครัว ความแตกแยกในครอบครัว และสภาพสังคมรอบตัวที่โหดร้าย

อาการแสดงของโรค

อาการของผู้ป่วยโรคไซโคพาธ จะมีลักษณะจิตใจที่แข็งกระด้าง และยังมีพฤติกรรมตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง โดยไม่สนใจผู้อื่นในสังคม ควบคู่กับการมีความผิดปกติทางอารมณ์ และความคิดโดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม รวมทั้งมักกระทำความรุนแรงซ้ำๆ และก่อให้เกิดอาชญากรรมอีกด้วย

วิธีการการรักษา

  1. การรักษาด้วยยา มีประโยชน์ในการรักษาโรคทางจิตเวชที่เกิดร่วมกับไซโคพาธ
  2. การปรับพฤติกรรม เน้นการพัฒนาสิ่งที่สนใจในแง่ดี และการให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมดี
  3. การลงโทษ มักไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้เนื่องจากอาการด้านชาทางอารมณ์