ในงานสัมมนา THAN X FORUM 2023 HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY จัดโดยฐานเศรษฐกิจ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ”HEALTH IN THE CITY” ระบุว่า กทม.มองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเป็นเมืองที่มีคนมารวมอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆมากมาย หากไม่มี Healthy คงไปไม่รอด
ดังนั้น หน้าที่หลักของ กทม.คือการทำเมืองให้มีสุขภาพที่ดี ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ระบบเส้นเลือดฝอยและสุขภาพของคนกรุง ซึ่งปัญหาสาธารณสุขในเมืองไทยอยู่ที่ระบบเส้นเลือดฝอยหรือระบบสาธารสุขปฐมภูมิ ซึ่งปัจจุบันกทม.มีงบประมาณ ราว 80,000 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข ราว 7,000 ล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งไม่รวมกับเงินอุดหนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หากสามารถจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพที่ใช้แต่ละปี 1 หมื่นล้านบาทให้มากขึ้นได้ จะทำให้มีงบประมาณเหลือมาใช้ในด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาให้เข้มมากแข็งขึ้นได้อีก
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของกทม. เบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกับสปสช. โดยใช้ศูนย์สาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่เป็น Area Manager ดูแลประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม โดยเพิ่มบริการคลีนิคพิเศษเฉพาะทาง,เพิ่มบริการคลีนิคนอกเวลา,เครือข่ายบริการชุมชนในพื้นที่ (หมอเคลื่อนที่),เพิ่มเตียงพักคอย ฯลฯ เชื่อมโยงการรักษาโรงพยาบาลแม่ข่าย รวมทั้งกทม.มีแผนจะขยายเตียง จำนวน 10,000 เตียงในศูนย์สาธารณสุข เพื่อรองรับผู้ป่วย
2.สังคมผู้สูงอายุและโรคคนเมือง ซึ่งเป็นสังคมที่น่ากังวลมาก เนื่องจากในกรุงเทพฯมีผู้สูงอายุเป็นอันดับ 1 ของประเทศและสูงเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับที่อื่นถึง 2 เท่า ซึ่งกทม.ต้องสนับสนุน Preventive Care มากขึ้น โดยการผลักดันการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกเขตและทุกแขวง รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการทำกิจกรรม เพื่อรองรับการเป็นเมืองผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ถือเป็นการลงทุนน้อย แต่ได้ผตอบแทนมากขึ้น
ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 110,000 บาทต่อปี ปัจจุบันมีการจัดตั้งชุมชนดังกล่าว 45 ชุมชน 360 ชมรม รวมถึงการแก้ปัญหาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต ที่จะต้องดีขึ้นด้วย จากปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตของกทม.สูงถึง 7,500 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 21-59 ปี ราว 60%
3.ปัญหาโรคทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุจากฝุ่น PM 2.5 ที่จะต้องดูแลด้านแหล่งกำเนิดฝุ่นให้ได้ก่อน โดยกทม.ได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝุ่นสำหรับติดตามสถานการณ์ฝุ่น รวมถึงการเผาในพื้นที่และเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 โดยเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วันพร้อมทั้งระบุปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนผ่าน Line Alert เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือ
ดังนั้น Health เป็นเรื่องสำคัญ เมืองไม่สามารถดีได้ถ้าเมืองไม่ Healthy ซึ่งกทม.ต้องมุ่งเน้นสาธารสุขด้านปฐมภูมิ เพื่อทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “ความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย”ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย เพื่อให้อัตราการมีสุขภาพดีก่อนเสียชีวิตของคนไทยดีมากขึ้น ทั้งระบบสาธารณสุข สวัสดิการ และการใช้จ่ายงบประมาณ
สิ่งสำคัญในเรื่องของสุขภาพตอนนี้ต้องมองในเรื่องของความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นให้ได้คือ Health Span หรือ การมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพที่ดีก่อนเสียชีวิต โดยไม่ใช่แค่การมีชีวิตอยู่นานขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอยู่นานและอยู่อย่างดี
“ปัจจุบันประเทศไทยยังมีตัวเลข Health Span สั้น โดยคนไทยอายุเฉลี่ยเกือบ ๆ 80 ปี ซึ่งเฉลี่ยแล้วคนไทยจะมีเวลาเฉลี่ย 5 ปีที่สุขภาพไม่ดีและทุกข์ทรมาน ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องหาทางแก้ปัญหาให้คนไทยอยู่นาน และมีสุขภาพที่ดีคู่กันไปด้วย”
ไทยถือเป็นต้นแบบด้านระบบการดูแลสุขภาพ เพราะประชากรกว่า 99% อยู่ภายใต้การคุ้มครองในระบบดูแลสุขภาพ ทั้งพ.ร.บ.สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ 8% พ.ร.บ.ประกัน 17% และพ.ร.บ.หลักระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 73% ซึ่งคนส่วนใหญ่จะถูกดูแลด้วย 3 ระบบนี้ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการบริการสุขภาพแบบพื้นฐาน และไม่ให้คนไทยล้มละลายเพราะการเจ็บป่วย จากการเข้าไปรักษาสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง
รศ.นพ.ฉันชาย ยอมรับว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของไทย และจะต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยในอนาคต ทั้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ขยะล้นโลก โรคอุบัติใหม่ ภาวะโลกร้อน อาหารขยะ โรคเรื้อรัง และสังคมสูงวัย
ทั้งนี้ แนวทางการรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมามีแนวคิดสำคัญ คือ Health in All Policy หรือ HiAP ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำทุกนโยบาย โดยให้ความห่วงใยสุขภาพเป็นลำดับแรก รัฐจะทำนโยบายอะไรต้องคิดเรื่องของสุขภาพก่อน และสร้างสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ทำ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 5% ต่อจีดีพี ในขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้ดูแลสุขภาพประชาชน อยู่ที่ 16-18% ต่อจีดีพี ซึ่งแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไปแล้ว และในอนาคตมีความเสี่ยงว่าจะเกิดความไม่ยั่งยืน หลังจากไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ
ขณะที่ความเหลื่อมลํ้า เช่น สิทธิบัตรทอง ปัจจุบันมีคนใช้งาน 48 ล้านคน ใช้เงินไปทั้งสิ้น 1.14 แสนล้านบาท แต่เมื่อมาดูสิทธิของข้าราชการที่มีสัดส่วนคนน้อยกว่า 10 เท่า แต่กลับใช้เงินสูงถึง 6.6 หมื่นล้าน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะการเงินของรัฐในอนาคต
“ในอนาคตต้องมีการปรับ ยกเครื่องระบบประกันสุขภาพใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ 3 กองทุนมีความเท่าเทียมกัน เกิดประสิทธิภาพในการดูแลสูงสุด และอาจมีการร่วมจ่าย แม้จะมีการคัดค้านกันมาก และนักการเมืองไม่กล้าทำ แต่จริงๆ แล้วมีประเด็นสำคัญ คือทำอย่างมีระบบและเป็นธรรม โดยต้องมองการใช้จ่ายเป็นการลงทุนไม่ใช่ต้นทุนด้วย”